พระสกุลลำพูน กับความเชื่อ และกลายเป็นชื่อในปัจจุบัน

280

ชื่อกับความเชื่อในพระสกุลลำพูนพูดถึง พระสกุลลำพูน แล้วในยุคนี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน อย่างน้อยก็พระรอด พระหนึ่งในเบญจภาคีพระเครื่องเมืองไทยที่ใครๆก็ใฝ่ฝันยากมีไว้ครอบครองบูชาอย่างน้อยสักหนึ่งองค์ แต่จะมีใครที่จะคิดไปถึงที่มาของชื่อพระเหล่านั้นบ้างไหม ว่าใครเป็นผู้ตั้งชื่อแล้วตั้งแบบนั้นหมายความว่าอย่างไร

นักวิชาการ นักโบราญคดี และนักอนุรักษ์พระสกุลลำพูนรวมถึงคนลำพูน บางทีก็เรียกชื่อพระสกุลลำพูนผิดแผกแตกต่างกันไป ตามวิถีแห่งภาษาและความเข้าใจของตนเมื่อครั้งก่อน สมัยตอนข้าพเจ้าเป็นเด็กที่พอจำความได้และมีความสนใจพระเครื่องเนื่องจากพ่อ ปู่ และคุณตา มีพระลำพูนเป็นมรดกตกทอดกันมา และท่านๆเหล่านั้นได้เล่าให้ฟังถึงที่มา ประสบการณ์ความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระลำพูนให้ฟัง จึงเป็นจุดหนึ่งที่สร้างความสนใจ ความรัก และมุ่งศึกษาเรียนรู้มาตั้งแต่อายุสิบกว่าปี และชื่อที่ได้ยินผู้แก่ผู้เฒ่าเล่าขานกัน พอจะนำมาเล่าต่อให้ท่านฟัง ดังเช่น

พระเลี่ยง มีลักษณะแหลมในส่วนปลาย ทางเหนือเรียกส่วนแหลมว่า เหลี้ยม และเมื่อขุดได้พระลักษณะนี้จึงเรียกว่าพระเหลี้ยม แต่ที่เปลี่ยนไปเป็นพระเลี่ยง ก็มีบางส่วนเล่าเกี่ยวกับพุทธคุณให้ฟังว่า เมื่อมีพระนี้ติดตัว จะไม่พบอันตรายทั้งปวง หลีกเลี่ยงจากอันตรายได้เสมอ “เลี่ยง” เป็นภาษาเมืองเหนือเหมือนกัน หมายถึง เว้น, หลบ, หลีก, หรือกิริยาทำอีกอย่างหนึ่ง เช่น หนตางเส้นนี้บ่อดีก็เลยเลี่ยงไปใจ้แหมเส้นหนึ่ง คือทางสายนี้ไม่ดีเลยไปใช้อีกเส้นทางหนึ่ง ก็ทำให้ต่อมาเรียกว่าพระเลี่ยง อาจตามพุทธคุณที่พูดถึงกัน


พระคง
 หมายถึง พระเครื่องที่ขุดพบที่บริเวณวัดพระคงฤาษี จึงเรียกว่าพระคง ทางด้านพุทธคุณ ก็เล่าว่ามีความคงกระพันชาตรี ทนต่ออาวุธ คมหอกคมดาบ เมื่อครั้งโบราญที่ต่อสู้กัน จึงทำให้เรียกว่าพระคง

พระบาง รูปร่างคล้ายพระคง แต่โดยรวมแล้วหลังจะบางกว่า พบมากที่วัดดอนแก้ว แต่ไม่ได้เรียกชื่อตามวัด เรียกตามลักษณะที่เห็นว่ามีลักษณะบาง

พระลบ ในความหมายตามลักษณะที่มีลักษณะองค์ไม่ค่อยชัดเจน ไม่มีรายละเอียดในพิมพ์ และเนื่องจากผิวหยาบและเสื่อมสภาพขณะที่อยู่ในกรุ เมื่อคนที่เห็นส่วนมากมีลักษณะที่ไม่ชัดจึงเรียนว่าพระลบ คือลบเลือน อีกตามพุทธคุณ มีผู้นำไปใช้ทางคดีความแล้วชนะ จึงเชื่อว่าสามารถลบล้างสิ่งที่ไม่ดีออกไปได้ พระลบโบราญจะพบรอยฝนเพื่อทำน้ำมนต์อาบกินเมื่อใช้ต่อสู้คดีความ

พระเปิม เปิมในภาษาคำเมือง ลักษณะแบนใหญ่ เมืองเปรียบเทียบกับลักษณะพระเปิมแล้วเห็นว่ามีลักษณะตามนี้จึงเรียกกันว่าพระเปิม ประสพการณ์สุนัขกัด และทหารรบในยุทการที่ร่มเกล้าถูกยิงด้วยปืนอาก้ารอดชีวิต


พระรอด
 คนเมืองในยุคเก่าๆ เรียกว่าพระลอด หมายถึงพระขนาดเล็ก คือในคำเมือง มากจากคำว่า ลอดมอก คือเล็กกว่าที่ควร ในด้านพุทธคุณ มีผู้บูชาแล้วคลาดจากอันตราย หรือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา จึงว่ารอดมาได้อย่าปาฏิหาริย์ สมัยก่อน จะเกณฑ์ทหาร หรือคัดเลือกทหารประจำการ คนที่ไม่ต้องการให้ลูกหลานติดทหารเกณฑ์ ก็จะให้ลูกหลาน อมพระรอด อาราธนา ให้รอดพ้นไม่ต้องถูกเกณฑ์ จึงเรียกพระรอด

พระลือ วัดพระคง/วัดประตูลี้ดีเด่นในเรื่องชัยชนะคลาดแค้ลวและความมีชื่อเสียงเลื่องลือไกล