ประวัติและความสำคัญ วันอาสาฬหบูชา

227

วันอาสาฬหบูชา เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางศาสนาพุทธ โดยในทางประวัติศาสตร์ วันอาสาฬหบูชา คือวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 และยังทำให้มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

เพื่อให้ทุกท่านได้รู้จักและมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับ วันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา เราจึงได้นำข้อมูลประวัติความเป็นมา เหตุการณ์สำคัญ และกิจกรรมที่ชาวพุทธทำในวันอาสาฬหบูชา มาให้ทุกท่านได้ศึกษาและทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

ความหมายของอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน 8 ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ “อาสาฬห” หมายถึง เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า “บูชา” เมื่อรวมกันจึงแปลว่า “การบูชา เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8″ คือ

  1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
  2. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
  3. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
  4. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
  5. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

ประวัติวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรหรือพระธรรมตรัสรู้เป็นครั้งแรกแก่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง  คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี โดยการแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้ ท่านโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) หรือดวงตาเห็นธรรม  คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา และเกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านโกณฑัญญะจึงขออุปสมบทต่อพระองค์ นับเป็นพระสงฆ์รูปแรกในศาสนาพุทธ และทำให้วันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ พระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันพระธรรมจักร นั่นเอง

ความสำคัญของการปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง 5 โดยมีใจความคือ ทรงยกที่สุด 2 ฝ่าย ได้แก่ การประกอบตนให้ลำบากด้วยการทรมานกาย และการไม่ประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข ทั้ง 2 นี้นับว่าไม่ควรเสพ ทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา เท่านั้นที่เป็นข้อปฏิบัติที่สมควร แล้วทรงแสดงทางสายกลางคือ อริยมรรค 8 ประการ

อริยมรรค 8 ประการ

  1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
  2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
  3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
  4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
  5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
  6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
  7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
  8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

  1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
  2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
  3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
  4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น

วันอาสาฬหบูชาของประเทศไทย

วันอาสาฬหบูชา เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย และเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2501 โดยคณะสังฆมนตรีมีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในประเทศไทย ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับวันวิสาขบูชาอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล ต่อมาในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2505 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงประกาศกำหนดให้วันอาสาฬหบูชา หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8  เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย

กิจกรรมและพิธีกรรมในวันอาสาฬหบูชา

สำหรับประชาชน พุทธศาสนิกชนชาวไทย ในวันอาสาฬหบูชานั้นจะนิยม ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา สวดมนต์ และเวียนเทียนรอบอุโบสถ

วันอาสาฬหบูชา ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา เหล่าชาวพุทธควรศึกษาที่มาและความสำคัญ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสืบต่อไป และหากท่านใดกำลังมองหาพระพุทธรูปเพื่อเอาไว้บูชาในวันสำคัญ หรือมองหาชุดสังฆทานเพื่อไปทำบุญที่วัดในวันอาสาฬหบูชานี้ สามารถเลือกบูชาเลือกซื้อได้บนเว็บไซต์ของเรา หรือปรึกษาได้ฟรีโดยทีมงานผู้ชำนาญการ แอดไลน์ @Amulet24