เล่าขานตำนานหลวงพ่อลอยน้ำ 3 พี่น้อง

618

มีตำนานกล่าวว่า กาลครั้งหนึ่งมีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน บวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก ได้พร้อมใจกันตั้งสัจจะอธิษฐานว่า “เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้ว ก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน” ครั้นพระอริยบุคคลทั้งห้าองค์นี้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ มีความปรารถนาจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนทางเมืองใต้ จึงพากันแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้พระพุทธรูปทั้งห้าองค์ ลอยน้ำมาทางใต้ตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย

ชาวบ้านชาวเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำเห็นพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาก็พากันเลื่อมใส จึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและอาราธนาให้ขึ้นสถิตอยู่ตามวัดต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ

  • พระพุทธรูปองค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง แล้วขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เรียกว่า “หลวงพ่อโสธร”
  • พระพุทธรูปองค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม เรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”
  • พระพุทธรูปองค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เรียกว่า “หลวงพ่อโต”
  • พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” และพระพุทธรูปองค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เรียกว่า “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”


ในขณะที่บางตำนานก็กล่าวไว้ว่า การที่พระพุทธรูปทั้ง 5 ลอยน้ำมานี้ ก็เพราะเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ข้าศึกได้เผาไฟเพื่อหลอมเอาทองที่หล่อจากองค์พระพุทธรูป ชาวบ้านเองก็ต้องการจะรักษาพระพุทธรูปไว้ จึงเอาปูนบ้าง รักดำบ้าง ไปพอกไว้ที่องค์พระ เพื่อให้ดูไม่สวยงามและปกปิดความมีค่าไว้จากข้าศึก

แต่เมื่อไม่อาจปกป้องได้ไหวจึงขนย้ายพระพุทธรูปสำคัญลงแพไม้ไผ่ ล่องมาตามแม่น้ำเพื่อไม่ให้ข้าศึกทำลาย ด้วยน้ำหนักขององค์พระ เมื่อวางพระลงบนแพไม้ไผ่จึงดูเหมือนพระพุทธรูปลอยมาตามน้ำ จนผู้ที่พบเห็น ถือเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่น้ำหนักมากจะสามารถจะลอยน้ำได้ พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ที่มีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างประเทศหลั่งไหลมาเคารพสักการะมิได้ขาด เรื่องราวความเป็นมาและปาฏิหาริย์ของพระพุทธรูปแต่ละองค์มีดังต่อไปนี้

ตำนานของ “หลวงพ่อบ้านแหลม”
แห่งแม่น้ำแม่กลอง 
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม

พระพุทธรูป 5 องค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันจากทางเหนือนั้น มีเพียงองค์เดียวที่ป็นพระพุทธรูปยืน คือองค์ที่ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง แล้วขึ้นสถิตอยู่ที่วัดบ้านแหลม อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ก็คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเอง

ประวัติความเป็นมา

สำหรับหลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลาก พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ทุกคนต่างดีใจมาก จึงอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับเข้าฝั่ง แต่ระหว่างทางคนในเรือได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งลอยปริ่ม ๆ น้ำอยู่ไม่ไกลนัก

จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไป จึงได้พบ พระพุทธรูปยืน ทุกคนต่างอัศจรรย์ใจเป็นที่สุดที่พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น แล้วอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง

พอเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้า วัดศรีจำปา ได้เกิดอาเพทคล้ายกับว่า พระพุทธรูปยืน ท่านประสงค์ที่จะอยู่วัดนี้ จึงทำให้ฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด จนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ

ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างช่วยกันลงดำน้ำค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่นั้น และอาจเป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปา จึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาดำน้ำจนพบและอาราธนาไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา

ครั้นชาวประมงบ้านแหลมรู้ข่าวว่าชาวบ้านศรีจำปาพบพระพุทธรูปของตนที่จมน้ำ จึงยกขบวนกันมาทวงพระคืน แต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้ จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้น แต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อและการมีเหตุผลด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็สามารถประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ ฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมจึงยินยอม ยกพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรให้ชาวบ้านศรีจำปาไป

แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาแต่แรก ตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปาจึงได้นามว่า “วัดบ้านแหลม” มาจนทุกวันนี้ และขนานนามพระพุทธรูปยืนว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ต่อมาวัดบ้านแหลม ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทวรวิหาร”

พุทธลักษณะ

หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร หล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัยสุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่ง ส่วนสูงประมาณ 170 เซนติเมตร (บ้างว่าสูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร) แต่บาตรเดิมนั้นได้สูญหายไปในทะเลก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้เสด็จมานมัสการและได้ถวายบาตรแก้วสีเงินแก่หลวงพ่อบ้านแหลมดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ความศักดิ์สิทธิ์

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้นเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ไม่ว่าเป็นทางก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ทางแคล้วคลาด ทางรักษาโรค และเรื่องอื่นๆ อีกมาก แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบ อีกทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเลื่อมใส ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานมายังพระครูมหาสิทธิการ (แดง) ความว่า 

“ปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปยังเมืองสมุทรสงคราม ในกระบวนหลวง ได้รับสั่งให้คนนำเครื่องสักการะไปถวายหลวงพ่อบ้านแหลม และได้รับสั่งไว้แต่ครั้งนั้นว่า ขอผลอานิสงส์ความทรงเลื่อมใส จงบันดาลให้หายประชววร ครั้นเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นานก็หายประชวร จึงทรงระลึกถึงที่ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้สมพระประสงค์ โปรดพระราชทานปัจจัยเป็นมูลค่า 800 บาท มาเพื่อช่วยในการปฏิสังขรณ์วัดบ้านแหลม ข้าพเจ้าได้ส่งมาให้ท่านพระครูทางกระทรวงธรรมการแล้ว”

อีกประสบการณ์หนึ่งจากผู้ที่รอดชีวิตเพราะบุญญาบารมีของหลวงพ่อคุ้มครอง คือ นายชิต เข้มขัน อดีตนายด่านศุลการกร สมุทรสงคราม ได้ประกอบอาชีพเป็นกัปตันเรือเดินทะเลระหว่างกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ คราวหนึ่งเรือถูกพายุอัปปางลง เขาต้องลอยอยู่ในทะเลหลายชั่วโมงจวนหมดกำลังจมน้ำอยู่แล้ว ก็นึกถึงหลวงพ่อบ้านแหลมขึ้นมาได้ จึงขอให้หลวงพ่อช่วย

ขณะนั้นเรือที่เดินอยู่ในทะเลได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วย จึงหันหัวเรือตามหา แต่เดือนมืดมองไม่เห็น เรือแล่นวนเวียนอยู่สักครู่ก็จะหันหัวเรือกลับ แต่ก็ได้ยินเสียงคนร้องเรียกให้ช่วยอยู่เรื่อย จึงค้นหาอีกจนพบนายชิต เข้มขัน ลอยคออยู่จวนจะจมน้ำ เมื่อเอาตัวขึ้นมาบนเรือนั้นนายชิตสลบไม่ได้สติ ต้องแก้ไขอยู่นาน พอฟื้นขึ้นมาจึงพากันซักถามว่าตะโกนให้ช่วยหรือเปล่า นายชิตบอกว่าไม่ได้เรียกให้ช่วย เป็นแต่คำนึงถึงหลวงพ่อบ้านแหลมอยู่ในใจ ขอให้หลวงพ่อช่วยเท่านั้นเอง

บนบานศาลกล่าว

เรื่องการบนบานขอให้หลวงพ่อบ้านแหลมช่วยเหลือนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันมาว่า ท่านช่วยทุกเรื่องที่คนเข้ามาขอความเมตตา ยกเว้นเรื่องทหาร หากมาขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร คนนั้นเป็นต้องถูกเกณฑ์อย่างแน่นอน เพราะกล่าวกันว่าท่านชอบทหารนั่นเอง และเมื่อสิ่งที่บนบานไว้ได้ดังประสงค์ มักจะนิยมแก้บนกันด้วยพวงมาลัยเป็นส่วนใหญ่ จะมีประทัดบ้างก็ประปราย

ที่พึ่งของชาวประมง

ทุกวันนี้ก่อนออกเรือหาปลา ชาวประมงสมุทรสงคราม จะกราบไหว้และขอพรหลวงพ่อบ้านแหลมให้คุ้มครองพวกตนพ้นจากภยันตราย และกลับมาโดยสวัสดิภาพ และได้ปฏิบัติเช่นนี้ต่อ ๆ กันมาตราบจนทุกวันนี้

ตำนานของ “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา” 
แห่งแม่น้ำเพชรบุรี 
วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

กว่า 200 ปี มาแล้วที่พระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยองค์เล็ก ขนาดหน้าตักกว้างเพียง 21 นิ้ว ซึ่งลอยน้ำมาจากทางเหนือ (พร้อมพระพี่น้องอีก 4 องค์) ได้ขึ้นประดิษฐานอยู่ ณ วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นพระพุทธรูปองค์เดียวในจำนวน 5 องค์พี่น้อง ที่มีแผ่นทองคำเปลวปิดหุ้มอยู่หนามากจนแลไม่เห็นความงามตามพุทธลักษณะเดิม

ประวัติความเป็นมา

ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลม ว่า ชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรี ได้พากันมาจับปลาในทะเล ขณะที่ลากอวนอยู่นั้นได้ลากพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยติดอวนขึ้นมาองค์หนึ่ง ในระหว่างทางกลับ ก็ได้พบพระพุทธรูปยืน (หลวงพ่อบ้านแหลม) ลอยปริ่มๆ น้ำอยู่ไม่ไกลนัก จึงอาราธนาขึ้นบนเรืออีกลำหนึ่ง แต่เกิดอาเพทฝนตกหนัก ลมพายุพัดจัด เรือลำที่พระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่นั้น ทนคลื่นลมไม่ไหว จึงเอียงวูบไป พระพุทธรูปที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายไปในแม่น้ำ

ชาวบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ต่างช่วยกันดำน้ำค้นหาอยู่หลายวัน แต่ก็ไม่พบ จึงตกลงว่าไม่ค้นหากันต่อไปอีก จึงนำพระพุทธรูปองค์นั่งที่เหลืออยู่บนเรืออีกลำหนึ่งไปยังถิ่นของตน และนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2302 เป็นต้นมา และเรียกขานกันว่าหลวงพ่อเขาตะเครา

ชื่อใหม่ของหลวงพ่อ

หลวงพ่อเขาตะเครา ได้รับการเรียกขานนามใหม่คือ “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา” สาเหตุมาจากมีช่างภาพคนหนึ่งต้องการถ่ายภาพหลวงพ่อ แต่ความที่องค์หลวงพ่อมีทองปิดทับอยู่หนามากจนแลไม่เห็นพุทธลักษณะเดิม ช่างภาพคนนี้จึงไปแกะทองที่ตาหลวงพ่อออกโดยมิได้บอกล่าวและขออนุญาต หลังจากนั้นไม่กี่วันช่างภาพคนนี้ก็มีอาการหูตาบวมเป่ง จึงต้องมากราบขอขมาหลวงพ่อ อาการจึงหายไป 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องหลวงพ่อ จนกระทั่งทองปิดองค์ท่านทับถมกันมากขึ้นทุกวันๆ ชาวบ้านที่มานมัสการจึงเติมคำว่า “ทอง” ไปในการเรียกขาน จึงกลายมาเป็น “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”

พุทธลักษณะ

หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว แต่เนื่องจากทองที่ปิดองค์พระพุทธรูปนั้นหนามาก จนทำให้ไม่เห็นองค์เดิมว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อหรือปูนปั้น แต่จากหลักฐานที่ “สุนทรภู่” กวีเอกของไทย ได้เขียนไว้ในนิราศเมืองเพชร คราวที่ได้ไปแวะไหว้หลวงพ่อ (ทอง) วัดเขาตะเครา ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลวงพ่อฯ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ดังความว่า

“ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะคริวสวาท มีอาวาสวัดวามหาเถร มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้ จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์อธิษฐาน เขานับถือลืออยู่แต่บูราณ ใครบนบานพระรับช่วยดับร้อน”

ความศักดิ์สิทธิ์

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อนั้น เป็นที่โจษขานกันมาแต่โบราณ แม้กระทั่งตอนที่หลวงพ่อจะประทานทองที่องค์ท่านให้นั้น มีผู้เล่าว่า ได้เห็นไฟลุกท่วมองค์ท่านเป็นประกายรัศมีออกมา ทองที่หุ้มองค์ท่านค่อยๆ ไหลหลุดลอกออกบางส่วน ดูน่าอัศจรรย์ และเมื่อนำทองที่ไหลลอกมาไปชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าได้ถึง 9.9 กิโลกรัม ! ทำให้ได้แลเห็นพระพักตร์ชัดเจนขึ้นมาบ้าง ซึ่งก่อนหน้านั้นมีทองปิดหนามากจนองค์ท่านกลมทีเดียว!

นอกจากนั้นยังมีผู้เล่าว่า มีหญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านแหลม ทำไร่ทำนาจนหมดเนื้อหมดตัว จึงคิดจะไปทำมาค้าขายทางใต้ ได้มาไหว้หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา อธิษฐานขอให้ช่วยค้าขายร่ำรวยแล้วจะกลับมาบวชชีแก้บน 15 วัน ปรากฏว่าหญิงคนนั้นค้าขายจนร่ำรวย แต่มิได้กลับมาแก้บนตามที่อธิษฐานไว้ ทำให้มีอาการป่วยหนัก จนกระทั่งผลสุดท้ายต้องกลับมาบวชชีที่วัดเขาตะเครา จึงหายป่วย

อีกเรื่องหนึ่งคือ มีเรือประมงลำหนึ่งถูกมรสุมอัปปางลง ลูกเรือ 11 คนเสียชีวิต รอดมาเพียง 2 คน เพราะมีพระกริ่งและแหวนจำลองของหลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา ทั้งสองคนนี้จึงบนตัวบวชให้หลวงพ่อตั้งแต่นั้นมา

และมีอยู่ครั้งหนึ่งขบวนทอดผ้าป่ามาทำบุญที่วัดเขาตะเครา ตอนกลับจากวัดเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำกลางทาง คนโดยสารทั้ง 70 กว่าคนเพียงแค่ฟกช้ำดำเขียวเท่านั้น และมีอยู่คนหนึ่งที่เช่าพระพุทธรูปจำลองหลวงพ่อฯ แล้วอุ้มองค์ท่านอยู่ คนนี้ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ แม้แต่นิดเดียว!

บนบานศาลกล่าว

การบนบานศาลกล่าวเพื่อขอพรหลวงพ่อให้ช่วยดลบันดาลในเรื่องราวต่างๆ นั้น มักจะสมปรารถนาเสมอ สุนทรภู่เองก็ทราบกิตติศัพท์นี้จึงได้อธิษฐานขอพรจากหลวงพ่อ ดังนี้ “ได้สรงน้ำชำระพระสัมฤทธิ์ ถวายธูปเทียนอุทิศพิษฐาน ขอเดชะพระสัมฤทธิ์พิสดาร ท่านเชี่ยวชาญเชิญช่วยด้วยสักครั้ง” สิ่งที่ห้ามบนก็คือ ขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เช่นเดียวกับหลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อบ้านแหลมนั่นเอง เพราะถ้าบนอย่างนี้ จะต้องเป็นทหารทุกราย!

ส่วนการแก้บนนั้น สิ่งของที่นิยมนำมาแก้บนที่ทำกันต่อ ๆ มานั้น ถ้าดูในสมัยก่อนจากคำอธิษฐานดังกล่าวของสุนทรภู่ ว่าถ้าสมหวังในเรื่องที่ขอไว้ สุนทรภู่จะถวายละคร พร้อมทั้งเทียนเงินทองและของเสวยตามที่มีผู้กระทำกันมา “แม้นได้ของสองสิ่งเห็นจริงจัง จะแต่งตั้งบายศรีมีละคร ทั้งเทียนเงินเทียนทองของเสวย เหมือนเขาเคยบูชาหน้าสิงขร”

จากคำบอกเล่าของผู้คนที่วัดเขาตะเคราบอกว่า การแก้บนก็แล้วแต่สิ่งของที่บนไว้ ซึ่งก็มีทั้งละคร ข่าวปลาอาหาร ประทัด เป็นต้น แต่หากต้องการให้ได้ผลสมปรารถนาเร็ว ต้องบนตัวบวช ไม่ว่าจะเป็นบวชพระ บวชเณร บวชชี บวชชีพราหมณ์ บวชเนกขัมมะ ผู้ที่บนตัวบวชนี้จะได้ผลสมหวังทุกราย

ทุกวันนี้หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา ยังคงเป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวเมืองเพชรและผู้คนมากมายที่เดินทางมากราบไหว้หรือแม้แต่ระลึกถึงท่านอยู่เสมอ ๆ

ตำนานของ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” 
แห่งแม่น้ำนครชัยศรี 
วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

เรื่องราวของพระพุทธรูป 5 พี่น้อง ที่เล่าสืบกันมาว่าทุกองค์พร้อมใจลอยน้ำมาจากทางเหนือ เพื่อจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนเมืองใต้ บัดนี้เรื่องราวได้ดำเนินมาจนถึง พระพุทธรูปองค์สุดท้ายที่ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ชาวบ้านขนานนามท่านว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้น มีตำนานเรื่องหนึ่งที่เล่าสืบกันมาพอเป็นเค้า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดนักว่า ในสมัยที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัตร ในปี พ.ศ. 2394 นั้น ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปครอง วัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าคณะใหญ่กรุงเก่า วันหนึ่งท่านได้ลงไปที่วัดไร่ขิง เมื่อท่านเข้าไปในพระอุโบสถกราบพระประธานแล้ว ท่านก็ได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า “โบสถ์ใหญ่โต แต่พระประธานเล็กไปหน่อย” เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงกราบเรียนท่านว่า “วัดไร่ขิงเป็นวัดจนๆ ไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ ได้” เมื่อทราบดังนั้นท่านจึงบอกว่าที่วัดของท่านมีอยู่องค์หนึ่งให้เจ้าอาวาสไปอัญเชิญมาได้

เมื่อสมเด็จฯ กลับไปแล้วไม่นาน เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงพร้อมทั้งกรรมการวัดได้เดินทางไปยังวัดศาลาปูน และอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงแพที่ใช้ไม้ไผ่มัดล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำนครชัยศรี จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถแทนองค์เดิมตั้งแต่นั้นมา และขนานนามพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ตามนามของวัดว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”

พุทธลักษณะ

หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัยแบบประยุกต์ พระรูปมีลักษณะผึ่งผายคล้ายแบบเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย แต่เฉพาะพระพักตร์ดูคล้ายแบบรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ

เหตุอัศจรรย์

ในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี จึงมีชาวบ้านมาร่วมเป็นจำนวนมาก ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพสู่ปะรำพิธีนั้น ได้เกิดเหตุการณ์เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะแสงแดดที่แผดจ้าพลันหายไป บังเกิดเป็นเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองกึกก้อง ฝนโปรยปรายลงมา ยังความฉ่ำเย็นกันทั่วหน้า ทุกคนในที่นั้นเกิดความปีติโสมนัสยิ่งนัก พากันอธิษฐานเป็นเสียงเดียวกันว่า “หลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร ฉะนั้น”

และนับตั้งแต่ที่หลวงพ่อมาประดิษฐานที่วัดไร่ขิง ก็มีประชาชนพากันมาเคารพสักการะมิได้ขาด โดยเฉพาะวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ อุโบสถของหลวงพ่อจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ที่ได้ยินได้ฟังและได้ประสบในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ

ความศักดิ์สิทธิ์

เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง มีผู้คนเล่าไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านแคล้วคลาด ทางด้านเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เช่น เรื่องของหญิงวัยกลางคนซึ่งถูกฟ้าผ่ากลางท้องนา แต่ไม่ตาย ทั้ง ๆ ที่หมอที่รับรักษาบอกว่าถ้าโดนอย่างนี้ไม่เคยมีรอดสักรายเดียว ทั้งนี้เพราะห้อยเหรียญรูปหลวงพ่อนั่นเอง

หรือเรื่องของสุภาพสตรีท่านหนึ่งอยู่ที่อเมริกา มีอาการชาที่ริมฝีปาก รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ญาติพี่น้องทางเมืองไทย ซึ่งนับถือหลวงพ่อวัดไร่ขิง จึงได้ส่งพระรูปจำลององค์เล็ก ๆ ไปให้ บอกว่าให้อธิษฐานจิตขอให้หลวงพ่อช่วย สุภาพสตรีท่านนี้ก็ทำตาม คืนหนึ่งเธอฝันเห็นหลวงพ่อ คิดว่าท่านได้มาช่วยแล้ว ในที่สุดก็หายจากโรคดังกล่าว และได้ส่งเงินมาถวายร่วมสร้างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นจำนวนมาก

และยังมีเรื่องของชายคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากโจรปล้นรถ เพราะขณะที่กำลังอยู่ในนาทีวิกฤตนั้นเขานึกถึงหลวงพ่อวัดไร่ขิง อธิษฐานว่าหากรอดตายจะบวชถวายหลวงพ่อหนึ่งพรรษา แล้วเขาก็รอดตายจริง ๆ สุดท้ายก็มาบวชถวายที่วัดไร่ขิง ตามที่ได้บนบานไว้

ส่วนเรื่องน้ำมนต์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นที่น่าเชื่อถือมานานแล้วว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บปวดหัวตัวร้อนได้ชงัดนัก แม้แต่วัวควายเป็นไข้ก็รักษาให้หายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่มากราบหลวงพ่อ นิยมนำน้ำมนต์กลับบ้านทุกราย เดิมที่วัดจัดเป็นถุงพลาสติกใบเล็ก ๆ ให้ใส่ แต่เมื่อมีผู้คนต้องการมากขึ้น และการใส่ถุงพลาสติกก็อาจแตกกลางทางได้ ้ทางวัดจึงบรรจุน้ำมนต์ใส่ในขวดพลาสติก เพื่ออำนวยสะดวกแก่สาธุชนผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะหลั่งไหลมากราบไหว้หลวงพ่อเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

บนบานศาลกล่าว

ทุกวันจะมีประชาชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้หลวงพ่อ บนบานขอพรให้ท่านช่วย โดยเฉพาะในวันเสาร์-วันอาทิตย์ ซึ่งผู้คนมากันอย่างล้นหลาม เสียงประทัดจะดังกึกก้องไปทั่วบริเวณพระอุโบสถ อย่างต่อเนื่องยาวนานในแต่ละวัน ซึ่งบอกให้รู้ว่า คนที่ได้รับพรจากหลวงพ่อแล้วสมปรารถนานั้น พากันมาแก้บนนั่นเอง และนอกจากประทัดแล้ว สิ่งที่ผู้คนบอกต่อ ๆ มาว่าเป็นของโปรดของหลวงพ่ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ว่าว และเมื่อแก้บนขอพรเสร็จแล้ว ก่อนกลับทุกรายจะไปรับน้ำมนต์ ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่ง แต่เรื่องที่ห้ามบนบานศาลกล่าวก็คือ เรื่องขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เหมือนกับพระพี่น้องที่ลอยน้ำมานั่นเอง 

งานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิง

ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อปีละ 3 ครั้ง คือ

  • ในเทศกาลวันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งทางวัดได้จัดงานตักบาตรเทโว และฟังเทศน์ จึงถือเป็นโอกาสให้มีการปิดทองนมัสการหลวงพ่อด้วย
  • ในเทศกาลตรุษจีน เพื่อให้ชาวจีนที่เคารพบูชาหลวงพ่อ ได้มีโอกาสกราบไหว้ปิดทองถวายเป็นพุทธบูชา
  • ในงานเทศกาลนมัสการปิดทองรูปหลวงพ่อประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 จนถึง วันแรม 3 ค่ำ เดือน 5


งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงทุกงาน จะเนืองแน่นไปด้วยสาธุชนและประชาชนทั่วไปจากใกล้ไกลที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า เพื่อมากราบไหว้องค์หลวงพ่ออย่างแท้จริง เพราะทุกคนเชื่อว่า องค์หลวงพ่อไม่ได้เป็นแค่พระอิฐพระปูนธรรมดา ๆ เท่านั้น

จบเรื่องราวของพระห้าพี่น้อง คือ หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม, หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา จ.เพชรบุรี, หลวงพ่อโต จ.สมุทรปราการ และหลวงพ่อวัดไร่ขิง จ.นครปฐม ในชุดพุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ แต่เพียงเท่านี้