พระครูวิมลสมณวัตร หรือ หลวงพ่อเพี้ยน อัคคธัมโม พระเกจิอาจารย์อาวุโสลพบุรี เจ้าตำรับสุดยอดเครื่องรางของขลัง ตะกรุดโทนและผ้ายันต์แดง อดีตเจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐิน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง เป็นที่นิยมของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา แต่ที่นิยมและหายาก คือ “เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเพี้ยน” เหรียญรุ่นนี้ จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2537 นักนิยมสะสมพระเครื่อง เรียกขานว่า เหรียญแปดเหลี่ยม ด้วยมีลักษณะเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีหูห่วง จัดสร้างด้วยกันหลายเนื้อ มีทั้งเนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ เนื้อทองแดง
ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเพี้ยนครึ่งองค์หันหน้าตรง มีตอกโค้ดตรงบริเวณสังฆาฏิ บางองค์มีรอยจารอักขระ ด้านหลังเหรียญ มีอักขระยันต์ตรงกลาง และใต้อักขระยันต์เขียนคำว่า “หลวงพ่อเพี้ยน อคฺคธัมโม พ.ศ.๒๕๓๗ วัดเกริ่นกฐิน ลพบุรี” ทุกวันนี้ เป็นเหรียญหายาก ราคาเช่าติดลมบนไปแล้ว เกิดในสกุลยอดวัด เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล พุทธศักราช 2470 ที่บ้านเกริ่นกฐิน ต.บ้านชี อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2519 ที่พัทธสีมาวัดกำแพง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยมีหลวงพ่อเจือ เจ้าอาวาสวัดกำแพง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา อัคคธัมโม มีความหมายว่า “ผู้มีธรรมอันยอดเยี่ยม” ภายหลังเข้ารับการอุปสมบท ย้ายไปพำนักที่วัดเกริ่นกฐิน เพื่อบำเพ็ญสมณกิจ เจริญจิตตภาวนา และมีโอกาสได้ร่ำเรียนวิทยาคมจากหลวงพ่อปาน เจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐิน ในยุคนั้น รวมถึงการได้ทบทวนสรรพวิชาเข้มขลังจากกัมพูชา ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดา
ดังนั้น เมื่อฝึกจิตตามแนวทางหลวงพ่อปาน ทำให้การเรียนด้านวิทยาคม บังเกิดความก้าวหน้า ปกครองดูแลวัดเกริ่นกฐิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 จนถึงวาระสุดท้าย วัตรปฏิบัติไม่มีผิดเพี้ยน ดำรงตนอย่างสมถะ เป็นพระชาวบ้านธรรมดา แต่ว่าเข้าถึงจิตใจคนทุกระดับชั้น ย้อนอดีตถึงปฐมเหตุ ในคราวแรก หลวงพ่อเพี้ยนเลือกมาพำนักที่วัดเกริ่นกฐิน ที่ตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา เพื่อปฏิบัติตามคำสอนของหลวงพ่อปาน ที่กำชับเอาไว้ สิ่งที่เริ่มต้นคือ การเจริญภาวนา ทำให้เกิดจิตที่มั่นคง เป็นสมาธิ
วันหนึ่ง ในราวพรรษาที่ 3 ท่านมีกิจนิมนต์ ต้องเดินทางจากวัดไปยัง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี โดยเส้นทางจากหมู่บ้านเกริ่นกฐิน สู่ถนนสายหลักท่าโขลงบ้านหมี่ ห่างไกลพอสมควร จำต้องเดินผ่านทุ่งนา ในบางช่วงต้องเดินผ่านป่าละเมาะ สองฟากทางรกทึบมาก พบเห็นการกระทำของโจรร้ายกำลังปล้นชิงทรัพย์ของชาวบ้าน แต่เจ้าทรัพย์ต่อสู้ขัดขืน จึงถูกคนร้ายใช้มีดแทงจนถึงแก่ความตายไปต่อหน้าต่อตา
จึงบังเกิดความเวทนาต่อชาวบ้านผู้เคราะห์ร้ายเป็นยิ่งนัก เมื่อเดินทางกลับวัด ได้ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีความคิดว่า หากชาวบ้านผู้นั้นมีวัตถุมงคลคุ้มครองป้องกันตัว อาจแคล้วคลาดภยันตรายได้อย่างแน่นอน ความคิดดังกล่าว ทำให้มุมานะในการพลิกฟื้นตำรา ทั้งของบิดาและหลวงพ่อปาน ที่กำชับถึงหัวใจแห่งการร่ำเรียนวิชา โดยเฉพาะพระคาถาอาคม เมื่อรำลึกถึงคำสอน จึงเร่งในการภาวนาจิตอย่างจริงจัง และเริ่มทำการจัดสร้างของขลังเป็นครั้งแรก แจกจ่ายให้กับผู้ที่ใกล้ชิดเอาไว้เพื่อเป็นการป้องกันและคุ้มครองตัวเอง ได้แก่ ตะกรุดโทน
กว่าจะสำเร็จเป็นตะกรุดโทน มิใช่เรื่องง่ายดาย แผ่นโลหะแต่ละแผ่น เมื่อได้จารอักขระเลขยันต์ตามตำรับ กว่าจะบรรลุเป้าหมายถึงขั้นนำไปใช้ได้ ต้องผ่านขั้นตอนพิธีกรรมอันสำคัญ คือ การจารตะกรุดใต้น้ำ หลวงพ่อเพี้ยนจะต้องดำลงใต้น้ำ เพื่อทำการจารอักขระ ซึ่งเป็นหัวใจของพระคาถาด้านมหาอุด และคงกระพันชาตรี ตะกรุดโทนดังกล่าว สร้างประสบการณ์ลือลั่น แต่ปัจจัยจากการเช่าบูชาทุกบาททุกสตางค์ นำปัจจัยไปใช้ในการพัฒนาวัดวาอาราม หลวงพ่อเพี้ยน มิได้มุ่งเน้นการพัฒนาภายในวัดของท่านเพียงอย่างเดียว ยังมองไปถึงปัญหาของชุมชนอีกด้วย อาทิ ได้สร้างถนนลาดยางจากถนนสายหลักท่าโขลง-บ้านหมี่ เข้าสู่หมู่บ้าน
ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2548 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ในราชทินนาม พระครูวิมลสมณวัตร ล่วงเข้าปัจฉิมวัย ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร ท่านอาพาธบ่อยครั้ง สุดท้าย หลวงพ่อเพี้ยนละสังขารอย่างสงบ เมื่อเวลา 03.25 น. วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560 สิริอายุ 90 ปี พรรษา 41 ที่สถาบันโรคทรวงอก อ.เมือง จ.นนทบุรี
ก่อนหน้านี้ หลวงพ่ออาพาธเป็นโรคประจำตัว คณะศิษย์นำส่งโรงพยาบาลตั้งแต่วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ด้วยหลวงพ่อมีอาการฉันอาหารไม่ได้ และปัสสาวะไม่ออก อาการทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนสิ้นลมสงบในเวลาต่อมา แม้จะละสังขารลาโลกไปแล้วก็ตาม แต่คุณงามความดีที่ได้ประกอบศาสนกิจมาตลอดชีวิต เป็นที่จดจำของชาวเมืองลพบุรีมิลืมเลือน