หลวงปู่ผาด วัดบ้านกรวด

193

หลวงปู่ผาด ฐิติปัญโญ พระครูวิบูลย์ ปัญญาวัฒน์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านกรวด ต.บ้านกรวด อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ได้มรณภาพแล้วอย่างสงบด้วยโรคชราที่วัดบ้านกรวด หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรวมแพทย์สุรินทร์ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา หลังอาพาธด้วยโรคชรามานานหลายปี

และเมื่อเช้าวันนี้ (5 ม.ค.) พระลูกวัดและศิษยานุศิษย์ได้นิมนต์หลวงปู่ผาดกลับมาที่วัดบ้านกรวดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ต่ออายุขัยให้หลวงปู่ผาด จนกระทั่งเวลา 11.58 น. วันเดียวกันนี้ หลวงปู่ผาดได้มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 104 ปี 8 เดือน 2 วัน พรรษา 85 พรรษา นับเป็นพระสงฆ์ที่มีอายุมากที่สุดในจังหวัดบุรีรัมย์

ล่าสุดที่วัดบ้านกรวด บรรดาพระสงฆ์และชาวบ้านกำลังจัดเตรียมสถานที่เพื่อจัดพิธีศพของหลวงปู่ผาดกัน โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า มีพุทธศาสนิกชนได้เดินทางมากราบไหว้เป็นจำนวนมาก

นายเฉลิมพล นิรันดร์ปกรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกรวด อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ผาด กล่าวว่า หลวงปู่ผาดได้อาพาธด้วยโรคชรามานาน หลายปีมานี้อาการไม่ค่อยดี จนกระทั่งเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาได้ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรวมแพทย์สุรินทร์ และกลับมาที่วัด จนกระทั่งเวลา 11.58 น. วันนี้ (5 ม.ค.) ได้มรณภาพอย่างสงบ

หลวงปู่ผาดเป็นพระผู้มีวัตรปฏิบัติเป็นไปเพื่อการดับทุกข์โดยแท้ มีความเพียรเป็นเลิศตลอดชีวิตของท่าน ตั้งแต่บวชได้พรรษาแรกก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจมอบให้แก่ศาสนา มุ่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และหลวงปู่ผาดยังเป็นพระที่รักสันโดษ ไม่ยึดติดในลาภยศสรรเสริญ พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนาโดยแท้ ทุกลมหายใจเข้าออกท่านกำหนดจิตด้วยกรรมฐานมีสติอยู่เสมอ

ขณะที่ พระครูพิศาลสังฆกิจ เจ้าคณะอำเภอบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เนื่องจากหลวงปู่ผาดเป็นพระเกจิที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธา ทางวัดได้พระราชทานน้ำหลวงอาบศพหลวงปู่ผาด พร้อมกับตั้งคณะกรรมการดูแลการตรวจสอบทรัพย์สินของหลวงปู่ผาดที่มีทั้งวัตถุมงคลและปัจจัย ส่วนการบำเพ็ญกุศลศพของหลวงปู่ผาดจะมีพิธีสวดทุกวัน จากนั้นในวันที่ 15 ม.ค. 2558 นี้จะมีพิธีบรรจุศพหลวงปู่ผาดไว้ในโลงแก้วเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้

สำหรับประวัติ หลวงปู่ผาด ฐิติปัญโญ หรือ พระครูวิบูลย์ ปัญญาวัฒน์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. 2454 จบ ป.4 เป็นชาวบ้านดู่ ต.ปราสาท อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ บุตรนายเอี้ยง กับ นางเตียบ ดิบประโคน มีพี่น้อง 4 คน หลวงปู่ผาดเป็นคนที่ 3 ขณะหลวงปู่ผาดอายุยังไม่ถึงขวบครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่ ต.ปราสาท อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้บรรพชาบวชสามเณรเมื่อปี 2470 อายุ 15 ปี ที่วัดบ้านพลับ ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ บวชได้ 2 พรรษาลาสิกขาบทไปช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา

ต่อมาปี 2476 ขณะมีอายุ 22 ปีได้อุปสมบทบวชเรียนที่วัดบ้านกรวด อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เมื่อครั้งอดีตสมัยเป็นพระหนุ่มได้ออกจาริกแสวงบุญไปยังที่ต่างๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ทั้งทางพระเวท วิชาแพทย์แผนโบราณต่างๆ ตามความเชื่อ และความนิยมของชาวพื้นบ้านในสมัยนั้น ได้ไปศึกษาเล่าเรียนเวทวิทยาอาคมที่จังหวัดอุดรมีชัยถึง 3 ปี (ในสมัยนั้นจังหวัดอุดรมีชัยยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย)

จากนั้นได้จาริกไปศึกษาหาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ แทบจะทุกภาคของไทยและประเทศใกล้เคียง เคยธุดงค์ไปศึกษาวิชาอาคมที่นครวัต ที่ประเทศเขมร เป็นเวลา 8 ปี จนมีความรู้เจนจบในไสยเวททุกแขนง แตกฉานในวิปัสสนากรรมฐานอย่างแจ่มแจ้ง ต่อมาเมื่อมีอายุมากขึ้นได้รับถวายที่ดินจากชาวบ้าน จากนั้นท่านได้บูรณะจากพื้นดินที่ว่างเปล่าจนเป็น “วัดตาอี” ให้เห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน

ต่อมาหลวงปู่หริ่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกรวดได้มรณภาพลง ชาวอำเภอบ้านกรวดจึงได้นิมนต์หลวงปู่ผาดมาเป็นเจ้าอาวาส แต่หลวงปู่ได้ปฏิเสธการเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกรวดมาโดยตลอด แต่ในที่สุดทนแรงศรัทธาของญาติโยมไม่ไหวจึงต้องยอมรับ เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกรวดเมื่อ พ.ศ. 2495 และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกรวดจนถึงปัจจุบัน

หลวงปู่ผาดได้พัฒนาวัดสาขาของท่านถึง 4 แห่ง

  1. วัดตาอี
  2. วัดบ้านปราสาท
  3. วัดบ้านบึงเก่า
  4. วัดบ้านกรวด

หลวงปู่ผาด วัดบ้านกรวด เป็นพระที่รักสันโดษไม่ยึดติดในลาภยศสรรเสริญ ท่านได้ปฏิเสธการสร้างวัตถุมงคลมาโดยตลอด แต่บรรดาศิษยานุศิษย์ได้รบเร้าหลวงปู่ว่ามีผู้เลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่ประสงค์อยากจะได้พระเครื่อง วัตถุมงคลของหลวงปู่ผาดไว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิต หลวงปู่เลยอนุญาต ให้จัดสร้างวัตถุมงคลที่ออกมาภายใต้ชื่อ หลวงปู่ผาด

วัตถุมงคลหลวงปู่ผาด วัดบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ สายตรงจากวัด เช่น พระเจ้าลิ้นทอง พระผงรูปเหมือน บูชา ล็อกเกต (ด้านหลังมีเกศา, ตะกรุดสามดอก, ผงพุทธคุณ) พระเจ้าครอบเมือง พญาครุฑ (เนื้อพิเศษ) เนื้อผงปถมังผสมไม้มงคลเก้า, ผงจินดามณี, ไม้งิ้วดำ, ไม้งิ้วดำโรยผงเกสรดอกดาวเรือง, ว่าน ขุนแผนพรายกุมาร บูชา

พระยอดขุนพล (เนื้อหัวเชื้อเนื้อผงตะไบโรยเกศพระโบราณ, ใบลานเผา) เหรียญรุ่นสร้างกุฏิ กุมารทองพรายเรียกทรัพย์ท้าวเวสสุวัณ เนื้อโลหะรมดำ หลวงปู่ผาด พญาหมูมหาเฮง เนื้อผงฝังตะกรุดโภคทรัพย์ 1 ดอก พญาหมูมหาเฮง เนื้อโลหะ ฝังตะกรุด 3 กษัตริย์ พระขุนแผนพรายกุมาร กรรมการ ตะกรุด 9 ดอก พระขุนแผนพรายกุมาร ตะกรุด 2 ดอก พระลักษณ์หน้าทอง เนื้อมหาว่านดำ พิมพ์เล็ก พระลักษณ์หน้าทอง เนื้อมหาว่านดำ พิมพ์ใหญ่ พระลักษณ์หน้าทอง เนื้อเกสร พิมพ์เล็ก พระลักษณ์หน้าทอง เนื้อเกสร พิมพ์ใหญ่ หนุมานพลิกดวงชะตา มหาอำนาจ