หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม

280

วัตถุมงคลโด่งดังที่สุดของ วัดอนงคาราม เขตคลองสาน กรุงเทพฯ มีด้วยกันมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะสมัย หลวงปู่ทับ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ 6 วัดอนงคาราม นักสะสมนิยมเล่นหาอย่างมาก หลวงปู่ทับ วัดอนงค์ เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าที่เชี่ยวชาญในวิธีเล่นแร่แปรธาตุ เก่งทางคาถาอาคม ท่านเกิดประมาณปี พ.ศ.2389 มรณภาพปี พ.ศ.2480 ในสมัยนั้นวัดอนงคารามมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) เป็นเจ้าอาวาส

หลวงปู่ทับเป็นพระลูกวัดแต่มีพรรษาสูงกว่า ท่านได้หลอมโลหะจนได้โลหะเมฆสิทธิ์ ที่มีวรรณะสีสันสวยงามแปลกตา มีคุณวิเศษศักดิ์สิทธิ์อเนกอนันต์แฝงอยู่ในตัว แม้แต่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ก็ได้มาศึกษาและเปลี่ยนวิชากับท่าน และหลวงปู่ศุขได้ใช้วิชาหล่อพระเมฆสิทธิ์นำกลับไปสร้างพระเครื่องพิมพ์เอกลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมของท่านเองที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเนื้อเมฆสิทธิ์ที่หลวงพ่อทับได้ปลุกเสกสร้างไว้นั้น มีหลายพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์พระปิดตา พิมพ์ปางซ่อนหา พิมพ์พระชัยวัฒน์ ลูกอม เป็นต้น

แต่ที่นิยมกันมากจนเกิดการแสวงหาบูชาอย่างมากมาย ก็คือ “พระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์” กล่าวสำหรับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ 6 แห่งวัดอนงคาราม กรุงเทพฯ เป็นพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง มีจริยาวัตรงดงามวาจาไพเราะท่านจะพูด “ดีจ้ะ” หรือ “จ้ะ” ลงท้ายแทบทุกคำ มีวิชาหุงน้ำมันมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง “เหรียญรุ่นแรก” เป็นที่เล่นหากันในวงการ แต่มีจำนวนน้อยมาก แทบจะไม่พบเห็นเลย

ท่านเป็นยอดพระเกจิอาจารย์เมืองกรุง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก จะเห็นได้ว่าท่านมีความสนิทสนมกับสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพ วราราม กรุงเทพ มหานครเป็นอย่างมาก รวมทั้ง “หลวงปู่ศุข”วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท จากหลักฐานสำคัญหลาย ๆ ครั้ง จะเห็นได้ว่าเวลาสมเด็จพระสังฆราช (แพ) จะสร้างพระกริ่งและชัยวัฒน์ มักจะนิมนต์ “สมเด็จนวม” มาร่วมนั่งปลุกเสกประจำทิศเสมอ ๆ

ส่วนความสัมพันธ์กับหลวงปู่ศุขนั้นลึกซึ้งยิ่ง เพราะท่านทั้งสองเป็นชาวชัยนาทด้วยกัน เวลาหลวงปู่ศุขมากรุงเทพมหานคร มักจะมาพำนักกับสมเด็จนวมเสมอ ๆ และร่วมปลุกเสกพระเครื่องกันเสมอ ดังจะเห็นได้จากรูปถ่ายการปลุกเสกร่วมของพระเกจิ อาจารย์สองท่านนี้หลาย ๆ ครั้ง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) ท่านเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2407 ที่ตำบลวังแม่ลูกอ่อน อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เป็นบุตรหมื่นนรา (อินทร์) นางใย มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ในเบื้องต้นได้ศึกษาหนังสือไทยที่วัดโคกเข็ม จังหวัดชัยนาท เมื่ออายุ 12 ปี ไปอยู่วัดอนงคาราม ธนบุรี กับพระใบฎีกาโป๋ พี่ชาย พออายุได้ 13 ปี ท่านบรรพชาเป็นสามเณร เรียนพระปริยัติธรรมคัมภีร์มูลกัจจายน์และพระธรรมบท จากนั้นท่านก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ดังนี้

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2449 เป็นพระธรรมธราจารย์ (พระราชาคณะชั้นสามัญ) วันที่ 30 ธันวาคม 2463 เป็นพระราชมงคลมุนี (พระราชาคณะชั้นราช) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2472 เป็นพระโพธิวงศาจารย์ (พระราชาคณะชั้นธรรม) วันที่ 1 มีนาคม 2484 เป็นพระมหาโพธิวงศาจารย์ (พระราชาคณะเทียบชั้นเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญวาสี) วันที่ 19 ธันวาคม 2488 เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สมเด็จพระราชาคณะ)

ขณะอยู่ในเพศบรรพชิตท่านมีผลงานมากมาย อาทิ ปรับปรุงกิจการและระเบียบของวัดให้เจริญก้าวหน้าขึ้น จนปรากฏว่า วัดอนงคารามเป็นวัดที่เจริญขึ้นทุก ๆ ด้าน ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยวิธีแสดงธรรมทุกวันธรรมสวนะ อบรมภิกษุสามเณรในปกครอง จัดระเบียบไหว้พระสวดมนต์ และอบรมจริยธรรมตามโรงเรียนต่างๆ ในความอุปการะของท่าน ตลอดทั้งอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาในวัดให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมและวัฒนธรรม สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ ปูชนียสถานและถาวรวัตถุต่าง ๆ ในบริเวณพระพุทธบาทสระบุรี

ท่านถึงแก่มรณภาพในขณะที่สิริอายุได้ 92 ปี พรรษา 72