หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย เป็นพระพุทธรูปปางชนะมาร หรือมารวิชัย ประวัติดั้งเดิมไม่ปรากฎแน่ชัด แต่เมื่อครั้นเริ่มก่อสร้างวัดห้วยน้ำทรัพย์ พระธาตุวาโย เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลวงพ่อปลดหนี้นี้ก็ได้ปรากฎมาแต่เดิมก่อนแล้ว ซึ่งพุทธคุณของหลวงพ่อปลดหนี้ มีดังนี้
– ปลดหนี้สิน
– ทำมาหากินคล่องตัว
– ทำมาค้าขึ้น
วัดห้วยน้ำทรัพย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “วัดพระธาตุวาโย” เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในเขตอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา แวะชมพระมหาเจดีย์ พระธาตุวาโย ที่มีรูปแบบเจดีย์ 3 สีไม่เหมือนที่ไหน งดงามแปลกตาราวกับช้างเผือกในป่าใหญ่ ภายในมีลวดลายวิจิตรสวยงาม กราบสักการะพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ และขึ้นไปยังชั้นบนขององค์เจดีย์เพื่อชมวิวทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง
วัดห้วยน้ำทรัพย์ ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำลาดกระทิง ในอำเภอสนามชัยเขต หากเดินทางจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา ใช้เส้นทางเข้าสู่อำเภอท่าตะเกียบ (ทางที่จะเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน (3259) วัดพระธาตุวาโย จะถึงก่อน
วัดห้วยน้ำทรัพย์ เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ หลังจากนั้นมีคุณแม่สุจิตรา พานทอง** และคณะศิษย์ ร่วมสนับสนุนให้สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2528 โดยเกิดจากนิมิตรของคุณแม่สุจิตรา เกี่ยวกับเรื่องเมืองวาโยนคร ว่าในสมัยหลังพุทธกาลสองร้อยกว่าปี ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ถูกขนานนามว่า “วาโยนคร” มีท้าวแสนชัยเป็นเจ้าเมือง ที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ดินแดนแห่งนี้ แต่ด้วยภัยธรรมชาติและโรคระบาดครั้งใหญ่ ทำให้ดินแดนแห่งนี้สาบสูญไป
วัดห้วยน้ำทรัพย์ เป็นวัดที่มีพื้นที่กว้างไปจรดบริเวณอ่างเก็บน้ำลาดกระทิง โดยรอบมีต้นไม้ร่มรื่น กลางวัดมีถนนตัดผ่าน จึงแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างให้ชม บางจุดอยู่ในระยะไกลกัน ต้องขับรถไปชม ส่วนที่โดดเด่นที่สุดภายในวัด คือ พระมหาเจดีย์พระธาตุวาโย
พระมหาเจดีย์พระธาตุวาโย หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย
พระมหาเจดีย์พระธาตุวาโย เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำขนาดใหญ่ สูง 39 เมตร ฐานเจดีย์มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 20 เมตร เนื้อที่ภายในองค์เจดีย์มีประมาณ 400 ตารางวา (1 ไร่) ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 60 ล้านบาท เริ่มวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2532 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2536
ภายนอกของเจดีย์พระธาตุวาโย เป็นเจดีย์ที่มีรูปลักษณะคล้ายเจดีย์ทรงระฆัง แต่แตกต่างจากเจดีย์ทั่วไปคือ มีองค์ระฆังซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยสีกระเบื้องต่างกันออกไป 3 สี ทำให้ดูโดดเด่น องค์ระฆังชั้นล่างประดับด้วยกระเบื้องสีเหลืองทอง องค์กลางมีขนาดเล็กลง ประดับด้วยกระเบื้องสีน้ำเงิน ส่วนองค์ระฆังชั้นบนประดับด้วยกระเบื้องสีขาว มีขนาดเล็กลดหลั่นกันไป ต่อจากองค์เจดีย์สีขาว เป็นปล้องไฉน ปลี และปลียอด ตามลำดับ (ไม่มีบัลลังก์ เสาหาน และก้านฉัตร เหมือนเจดีย์ทรงระฆังโดยทั่วไป) รอบองค์ระฆังแต่ละชั้นนอกจากจะต่างสีกั้นแล้ว ที่คอระฆัง และปากระฆังแต่ละองค์ ยังประดับลวดลายดอกแบบไทยๆ ดูงดงามมาก
องค์มหาเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานทรงกระบอก ที่ทำเป็นซุ้มประตูทางเข้า 4 ทิศ แต่ละประตูมีบันไดพญานาคนำเข้าสู่ตัวเจดีย์ และโดยรอบเจาะเป็นช่องหน้าต่างเรียงรายตลอด ส่วนภายในองค์เจดีย์ เป็นโถงขนาดใหญ่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ โดยแบ่งออกเป็นชั้นๆ คือ
ชั้น 1 มีลักษณะเป็นโถงทรงกลมใหญ่ มีหน้าต่างใสให้ความสว่างรอบทิศ สีภายในชั้นล่างเน้นสีเหลืองทอง ประดับด้วยลวดลายไทยสวยงาม เมื่อต้องแสงไฟยิ่งทำให้ลวดลายดูเรืองรองสวยงามยิ่งขึ้น ตรงกลางมีเสาแกนกลางเจดีย์ และเสารับคานรายล้อมอีก 8 ต้น เสาแต่ละต้นตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักดูอ่อนช้อยสวยงาม เสาแกนกลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางยืน 5 องค์ เปรียบได้กับพระพุทธเจ้าห้าพระองค์* ประทับยืนหันหน้าออกจากเสา ทุกองค์มีพุทธลักษณะกำลังก้าวย่าง มีพระพุทธรูปหนึ่งองค์ที่มีพุทธลักษณะแตกต่างจากองค์อื่นคือ มีสีพระวรกายเป็นสีเทา พระหัตถ์ขวาอุ้มบาตร ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขี้นระดับอก ห้องโถงชั้นล่างนี้ มีหน้าต่างโดยรอบ เหนือกรอบหน้าต่าง เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน ที่เขียนถึงเรื่องเล่าของชาววาโยนาคนคร** จากโถงชั้นล่าง มีบันไดเวียนสำหรับขึ้นไปยังชั้นกลาง และชั้นบน เป็นบันไดเหล็กที่ค่อนข้างแคบและชัน (อาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ)
* พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ที่กล่าวถึง ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน) และพระอริยเมตตรัยพุทธเจ้า (เป็นองค์ในอนาคตที่ยังไม่ปรากฏ)
** ภาพประวัติเรื่องเล่าชาววาโย เป็นภาพเล่าเรื่องราวในช่วงสงครามระหว่างไทยกับขอม ขณะที่ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบขอม เจ้าขุนมูลนายท่านหนึ่งจึงได้พาไพร่พลหลบหนีออกมา ในระหว่างนั้นเอง ท่านได้เกิดนิมิตรขึ้นว่า มีเทวดาบอกให้ตั้งรกรากใหม่ที่ตรงนี้ ซึ่งเคยเป็นเมืองพญานาค จะทำให้บ้านเมืองจะมีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งต่อมาท่านได้สร้างเมืองวาโย จนกลายเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก การค้าขายรุ่งเรือง ผู้คนผาสุข รักในศาสนา และตั้งอยู่ในศีลธรรม
เจ้าเมืองวาโยมีลูกสาว 3 คน ลูกสาวสองคนแรกได้ออกเรือนพร้อมกันไปแล้ว พอถึงลูกสาวคนสุดท้อง กลับได้ลูกเขยที่มีนิสัยชอบเล่นการพนัน กินเหล้าเมายา จนเชื่อกันว่าการที่มีลูกเขยที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรมนั้น มีส่วนทำให้เมืองเกิดอาเพท เกิดภัยพิบัติผู้คนล้มตาย ทำการค้าใดก็ไม่เจริญ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีเทวดาได้มาเข้าฝันสองตายาย ผู้ที่อยู่ในศีลธรรม มีจิตใจเมตตา เคารพในศาสนา เทวดากล่าวว่าให้สร้างวัดขึ้น เพื่อให้ชาววาโย ได้กลับมาเพื่อนำความเจริญให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ชั้น 2 เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 2 มีลักษณะเป็นโถงขนาดกลาง เสาแต่ละต้นประดับกระเบื้องสีน้ำเงิน ที่เสากลาง และคานรับเสา ยังคงประดับด้วยลวดลายอ่อนช้อย ชั้นนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย ทั้งโดยรอบเสาแกนกลาง และริมผนังด้านข้าง ชั้นนี้ยังมีหน้าต่างกระจกใสโดยรอบสูงจากพื้นขึ้นมา สามารถมองเห็นวิวอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงได้
ชั้น 3 เป็นชั้นบนสุดของพระมหาเจดีย์ ชั้นนี้จะเปิดให้ขึ้นไปชมได้เฉพาะในวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น ชั้นบนนี้เน้นโทนสีขาว ตัดกับลวดลายประดับ และองค์พระสีทอง เป็นชั้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย และยังมีหน้าต่างสูงจากพื้นโดยรอบ ได้เห็นทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงในมุมกว้าง
หลวงพ่อใหญ่ประทานพร
หลวงพ่อใหญ่ประทานพร เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรขนาดใหญ่ สร้างในปี พ.ศ.2535 – 2537 องค์พระหน้าตักกว้าง 20 เมตร มีความสูง 29 เมตร ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท หลวงพ่อใหญ่ประทานพร ตั้งบนฐานไพทีที่ทำเป็นห้องโถงชั้นล่าง มีลักษณะเหมือนใต้ถุนอาคาร ชั้นบนเป็นองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง การขึ้นไปกราบสักการะจะขึ้นทางบันไดด้านหน้า ที่ตั้งอยู่นอกอาคาร
อนุสาวรีย์สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า
อนุสาวรีย์สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า ตั้งอยู่ด้านหน้าของหลวงพ่อใหญ่ประทานพร เชื่อกันว่า สมเด็จพ่อแสนคำฟ้าเป็นผู้สร้างเมืองวาโยนครในอดีต ดูแลไพร่ฟ้าประชาชนให้มีความสุขสมบูรณ์กันถ้วนหน้า ต่อมาเมืองวาโยนาคนครได้ถึงกาลสลายลงด้วยภัยธรรมชาติ สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า ได้ให้ลูกหลานสร้างเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มสร้างจากวัดพระธาตุวาโย และขยายไปเรื่อยๆ ลูกหลานวาโยจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อกราบระลึกถึงพระคุณของท่าน
หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่กับวัดห้วยน้ำทรัพย์มาตั้งแต่มีการสร้างวัดในปี พ.ศ.2528 โดยไม่ได้มีประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด หลวงพ่อปลดหนี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่นอกอาคารวิหาร ภายใต้ร่มเงาของต้นโพธิ์ใหญ่ ทางด้านหลังพระมหาเจดีย์ มีผู้คนศรัทธา มากราบไหว้ ปิดทอง และขอพร ให้ช่วยเรื่องการปลดหนี้กันมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจการค้าขาย มักจะขอให้ทำมาหากินได้คล่องตัว ไม่ขัดข้อง หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย
พระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์ สร้างในช่วงปี พ.ศ.2539 – 2541 มีความยาว 20 เมตร ประดิษฐานอยู่ภายในศาลา เป็นพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ตั้งอยู่บนฐานไพทีที่มีลวดลายพระพุทธรูปโดยรอบ ใต้ฐานองค์พระบรรจุอัฐิคุณแม่สุจิตรา พานทอง ผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัด
อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง
เป็นอ่างเก็บน้ำในโครงการสืบเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้สำหรับการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดไม่ใหญ่มากนัก ด้านสันเขื่อนมีความกว้าง 6 เมตร ยาว 495 เมตร เขื่อนสูง 10.50 เมตร นอกจากเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สามารถเดินเล่น รับลม ชมวิวทิวทัศน์