วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ตั้งอยู่ริมถนนสายบางแพ-ดำเนินสะดวก กม.ที่ 14 ต.แพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี
วัดหลวงพ่อสดะรรมกายารามได้รับการประกาศตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2534 ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี
ได้ริ่เริ่มโครงการให้การศึกษาอบรมและเผยแผ่พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าอย่างกว้างขวางออกไปทั่ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่
โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน โครงการพุทธภาวนาวิชชา มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย เป็นต้น
นอกจากการเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ภารกิจหลักของการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาตามวาระและเทศกาลต่างๆ โดยในฤดูร้อน (ช่วงเมษาถึงพฤษภา) วัดแห่งนี้จะจัดบวชเณรภาคฤดูร้อนอีกด้วย
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลแพงพวย ถนนบางแพ-ดำเนินสะดวก หากเดินทางมาจากบางแพ วัดอยู่ขวามือก่อนถึงแยกดำเนินสะดวก 10 กิโลเมตร
พระอุโบสถสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย และเป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูปหยกปางต่าง ๆ ภายในวัดมีอุทยานการศึกษา และสวนป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯพื้นที่กว่า 200 ไร่
วัดนี้ได้รับรางวัลสวนป่าดีเด่นจากกรมป่าไม้ ประจำปี 2539 นอกจากนี้ยังเป็นสำนักเรียนภาษาบาลีประจำจังหวัด มีนิทรรศการเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ และมีการสอนปฏิบัติธรรมวิปัสสนาสำหรับชาวไทย และชาวต่างประเทศ
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี (วัดแห่งนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานีแต่อย่างใด) ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 มีประวัติความเป็นมานับตั้งแต่ อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ ผู้ชำนาญการวิจัย(Research Specialist) สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS) กรุงเทพฯ (ภายหลัง คือ พระเทพญาณมงคล) ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน 4 เพื่อถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ศิษยานุศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ว่า “วิชชาธรรมกาย” (วิชชา=วิทยา, รู้แจ้ง, ปรีชา; ธรรมกาย = กองหรือหมู่แห่งธรรม กล่าวคือ ธรรมที่รวมคุณธรรมของพระอริยเจ้าและของพระพุทธเจ้า) ตามระดับภูมิธรรมและบุญบารมีที่ปฏิบัติได้ โดยได้มอบตัวเป็นศิษย์ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระภาวนาโกศลเถร (ปัจจุบันคือ พระราชพรหมเถร) รองเจ้าอาวาสและอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้เป็นสัทธิวิหาริกและศิษย์โดยตรง ผู้สืบทอดวิชชาธรรมกายทั้งหมด จากพระเดชพระคุณ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จากนั้นท่านได้ริเริ่มจัดตั้งและบริหาร โครงการให้การศึกษาอบรมและเผยแผ่พระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างกว้างขวาง ออกไปทั่วประเทศและในต่างประเทศ ได้แก่
โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2518
โครงการพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2524
มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ศาลาการเปรียญ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2524 และ
สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2524 (ปัจจุบันย้ายมาตั้งอยู่ ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี)
ทั้ง 4 องค์กรได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมการให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่ธรรมปฏิบัติ ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ถึงธรรมกายของพระพุทธเจ้า มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นระยะเวลายาวนาน กว่า 25 ปีจนถึงปัจจุบัน ในต้นปี พ.ศ. 2528 เมื่ออาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและวิปัสสนาของสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย มีอายุย่าง 57 ปี ได้ตัดสินใจที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ท่านจึงยื่นหนังสือขอลาออกจากสำนักข่าวสารอเมริกันล่วงหน้า 1 ปี อันเป็นระยะเวลา 3 ปีก่อนวันเกษียณอายุ เพื่อให้สำนักงานได้มีโอกาสหาคนมาทำหน้าที่แทน และให้ท่านได้มีโอกาสฝึกงานแก่พนักงานใหม่ได้ทันเวลา เพราะงานที่ท่านต้องรับผิดชอบทำอยู่ในตำแหน่ง Research Specialist นั้น ต้องรับผิดชอบงานถึง 3 อย่างคือ (1) งานวิจัยและประเมินผล (2) งานจัดการติดตั้งและจัดการดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ (3) การจัดระบบข้อมูลข่าวสารด้วยคอมพิวเตอร์ จึงต้องมีเวลาเพียงพอในการจัดหาบุคลากรและฝึกงานให้ผู้ที่เข้ามารับงานใหม่ให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงได้รับอนุมัติให้ลาออกได้ ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2529 เป็นวันที่อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ มีอายุครบ 57 ปีบริบูรณ์ ท่านได้ลาออกจากสำนักข่าวสารอเมริกันแล้ว ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา มีฉายาว่า “ชยมงฺคโล” ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ โดยมี
เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดสามพระยา เป็น พระอุปัชฌาย์
เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระพรหมคุณาภรณ์”) เป็น พระกรรมวาจาจารย์
เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (ในสมัยที่ดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระธรรมธีรราชมหามุนี”) เป็น พระอนุสาวนาจารย์
ในระหว่างที่พระอาจารย์เสริมชัย ชยมงฺคโล อยู่จำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้รับการศึกษาอบรมทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติภาวนาธรรมอยู่ เป็นเวลา 5 พรรษานั้น ท่านต้องบริหารโครงการให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่ธรรมปฏิบัติทั้ง 2 โครงการ ในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร คือ โครงการธรรมปฏิบัติเพื่อประชาชน วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โครงการและสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ทั้งที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และทั้งที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี รวมทั้งจัดการด้านบุคลากร การเงินและทรัพย์สิน ของ มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ทั้งหมด ให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จัดซื้อที่ดินและจัดสร้างเสนาสนะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการก่อสร้างอุโบสถ และจัดให้มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา ให้ได้รับการศึกษาอบรมทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติพระสัทธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
อุทยานปฏิบัติธรรมอนุสรณ์หลวงพ่อวัดปากน้ำ
ในปลายปี 2529 มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย โดยศาสตราจารย์บัญญัติ สุชีวะ (อดีตประธานศาลฎีกา) ประธานมูลนิธิฯ ได้ยื่นคำขอต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขออนุญาตสร้างวัด บนที่ดิน 72.5 ไร่ ภายในบริเวณที่ดินของมูลนิธิ/สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ริมถนนสายดำเนินสะดวก-บางแพ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และได้รับอนุญาตให้สร้างวัดได้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2530 และในวันที่ 2 ธันวาคม ปีเดียวกัน เจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา ได้เป็นผู้เจิมแผ่นศิลาฤกษ์ เพื่อประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอุโบสถ เมื่อการก่อสร้างอุโบสถจวนจะแล้วเสร็จ รวมทั้งมีเสนาสนะ พระภิกษุ สามเณร อยู่จำพรรษาศึกษาและปฏิบัติธรรม ตามสมควร ศาสตราจารย์บัญญัติ สุชีวะ ประธานมูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย ก็ได้ขออนุญาตตั้งเป็นวัด และกระทรวงศึกษาธิการ (โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2534) จึงได้ประกาศตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนาขึ้น ชื่อ “วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ปฏิบัติและสอนภาวนาถึงธรรมกายและพระนิพพานตามพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่ตั้งสถาบันฯ ซึ่งเป็นเวลาที่ อาจารย์พระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล (ปัจจุบันคือ หลวงพ่อ พระราชญาณวิสิฐ) อุปสมบทได้ 5 พรรษา อายุได้ 62 ปี ได้ศึกษาภาคปริยัติจากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนสำเร็จ เปรียญธรรม 3 ประโยค และ นักธรรมเอก เป็นพระมหาเปรียญ ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ท่านจึงได้กราบลาพระเดชพระคุณหลวงพ่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มารับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และต่อจากนั้น ท่านยังได้ศึกษาภาคปริยัติแผนกบาลีต่อจนสำเร็จเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยค เมื่อต้นปี พ.ศ. 2537 (เมื่ออายุ 65 ปี) วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จึงได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินกิจกรรมสืบต่อวัตถุประสงค์ของ สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย เพื่อสืบบวรพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า ที่พระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้สั่งสอนและถ่ายทอดไว้ ให้วัฒนาถาวรยิ่งๆ ขึ้นไป ตราบชั่วกาลนาน.
ผลงานที่ได้รับรางวัล และฐานะที่ได้รับ
ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2553) พระราชญาณวิสิฐ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันของ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ได้เสียสละอุทิศตนเพื่อบวรพุทธศาสนา พร้อมกับได้พัฒนาวัด ทั้งด้านการก่อสร้างปูชนียสถาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่แวดล้อมด้วยป่าไม้งามเต็มพื้นที่กว่า 100 ไร่ รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการปฏิบัติธรรมและสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง จนทำให้วัดหลวงพ่อสดธรรมกายารามได้รับการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนเป็น “อุทยานการศึกษา” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลและฐานะต่างๆ ตามลำดับดังนี้
ได้รับพระราชทาน “รางวัลเสาเสมาธรรมจักร” ในฐานะผู้เผยแผ่ธรรมะในประเทศดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2535
อุโบสถวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ได้รับรางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยดีเด่น” พ.ศ. 2539 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้รับรางวัลชนะเลิศ “โครงการปลูกป่าถาวร เฉลิมพระเกียรติฯ” ประเภทศาสนสถาน ของกรมป่าไม้ ประจำปี พ.ศ. 2539 จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้รับรางวัลชนะเลิศ “โครงการปลูกป่าถาวร เฉลิมพระเกียรติฯ” และได้รับพระราชทานเข็มทองคำเครื่องหมายโครงการ จาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2541
ได้รับการคัดเลือกเป็น “เจ้าสำนักและอาจารย์ใหญ่ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น” (โดย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ประจำปี พ.ศ. 2552
ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “พระเถระผู้มีพุทธคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาระดับกาญจนเกียรติคุณ” (โดยคณะกรรมการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร) เมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552
ได้รับเกียรติบัตร “เป็นผู้ดำรงอยู่ในคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมฯ” (โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม) ประจำปี พ.ศ. 2553
ได้รับปริญญา “พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์)” สาขาการจัดการเชิงพุทธ, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2550
ได้รับปริญญา “ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์)” สาขาพระพุทธศาสนา, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2552
อ้างอิงข้อมูล วิกิพีเดียhttps://th.wikipedia.org
แหล่งข้อมูลอื่น
[[https://web.archive.org/web/20120505074000/http://www.dhammakaya.org/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1 Archived 2012-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน]]