ประวัติวัดนาคกลางวรวิหาร

211

วัดนาคกลางวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ เขตบางกอกใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร โดยสันนิษฐานว่าแต่เดิมเป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่สมัยในพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น วัดแห่งนี้ถือว่าตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน เพราะห่างจากพระราชวังเพียงแค่ 500 เมตรเท่านั้น วัดแห่งนี้จึงมีความสำคัญในสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น

ทราบมาอีกว่าที่วัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ที่ชาวบ้านนับถือกัน นั่นคือ หลวงพ่อโคนสมอมหาลาภ ประดิษฐานที่มณฑปจัตุรมุขเป็นพระพุทธรูปปางหนึ่งที่มีความเก่าแก่ ซึ่งเรียกว่า ปางฉันสมอ หรือปางถือผลสมอ มีพระพุทธลักษณะแบบปางมารวิชัยคือนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลาทรงผลสมอ (ผลสมอเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ทรงพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุสามเณรฉันได้ตลอดเวลาแม้ในยามวิกาลเพราะเป็นเภสัชขนานเอก) พระหัตถ์ขวาคว่ำลงที่พระชานุหล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง 29 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกศ 47 นิ้ว ห่มจีวรคล้ายแบบจีนและทิเบต พระเกศแบบบัวตูม นัยว่าแต่เดิมประดิษฐานอยู่ทางภาคเหนือ ได้ถูกอัญเชิญเคลื่อนย้ายเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์และมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัดนาคกลางวรวิหาร จนถึงทุกวันนี้ โดยหลวงพ่อโคนสมอมหาลาภ มีชื่อในเรื่องพระที่มีพุทธคุณเด่นในด้านรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จึงมีคนที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บไปกราบไหว้ขอพรให้หายจากอาการที่เป็นอยู่ ส่วนคนปกติทั่วไปก็จะไปขอพรไม่ให้เจ็บป่วยกัน

พระอุโบสถหลังใหญ่ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะทรงไทย หลังคา 3 ชั้น มุงกระเบื้องประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ส่วนพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดคือ หลวงพ่อพระพุทธประสิทธิ์ พระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ ลงรักปิดทอง พร้อมทั้ง พระพุทธรูปบูชาต่าง ๆ และพระอัครสาวกเบื้องขวา เบื้องซ้าย ในกำแพงพระอุโบสถยังมีภาพวาดภาพเขียนลายไทยเล่าประวัติของพระพุทธเจ้าให้ได้ชมกันอีกด้วยจุดด้านหลังยังมีจุดให้ชมคลองมอญ เป็นคลองธรรมชาติคลองหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตบางกอกใหญ่กับเขตบางกอกน้อย ที่มาของชื่อคลองมาจากที่ริมสองฝั่งคลองเป็นชุมชนชาวมอญเรียงรายกันไปตลอดแนว เป็นจุดสัมผัสบรรยากาศริมน้ำไปอีกแบบ

วัดนาคกลางเป็นวัดเล็กๆ ที่ถือว่ามีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจ หากวันหยุดไม่รู้จะไปไหนก็ลองมาไหว้สักการะเยี่ยมชม วัดนาคกลางวรวิหาร สักครั้ง >>> “วัตถุมงคลวัดนาคกลาง”