เที่ยวชมสถานที่สำคัญในวันฉัตรมงคล

272

วันฉัตรมงคล ซึ่งตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของประเทศไทย เป็นวันที่ระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

ความสำคัญของวันฉัตรมงคล

  • สัญลักษณ์แห่งมหาราชวังและพระบารมีอันยิ่งใหญ่ : พระฉัตรเป็นเครื่องราชูปโภคชั้นสูง แสดงถึงพระบารมีและพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ การเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคล จึงเป็นการแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระองค์ท่าน และสถาบันพระมหากษัตริย์
  • รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ : วันฉัตรมงคล เป็นโอกาสให้อาราษฎรได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย
  • การสืบสานประเพณีอันงดงาม : พิธีฉัตรมงคล เป็นประเพณีอันเก่าแก่ที่สืบทอดมายาวนาน การจัดงานฉัตรมงคล จึงเป็นการช่วยสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของชาติ
  • การส่งเสริมความสามัคคี : กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นเนื่องในวันฉัตรมงคล เป็นการส่งเสริมให้เกิดความสามัคคี ปรองดอง และความรักชาติในหมู่ประชาชน

เที่ยวชมสถานที่สำคัญในวันฉัตรมงคล เพื่อระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ในพระราชพิธีฉัตรมงคล จะมีพิธีจัดสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง โดยเจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น สำหรับเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือภายในพระบรมมหาราชวัง ตามแบบแผนการสร้างพระบรมมหาราชวังแต่ครั้งโบราณ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระแก้ว มีเฉพาะเขตพุทธาวาส เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง รวมถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อาทิ การจารึกพระสุพรรณบัฏและการแกะพระราชลัญจกร ในวันอังคารที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๒

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหารหรือวัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกและเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง ที่ใต้พระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากรพระประธานในพระอุโบสถ เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วัดโพธิ์ จะเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลักษณะเป็นพระมหาปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่เบื้องตะวันตกของเขตพระราชฐานชั้นกลางในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๓๒ ทดแทนพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ภายหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพจนเป็นธรรมเนียม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกราบถวายบังคมและสดับปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่พระที่นั่งนี้

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ โดยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์ เริ่มก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๒ วัดราชบพิธ ฯ สร้างโดยเลียนแบบจาก ๒ วัด คือวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีดาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๔ และวัดพระปฐมเจดีย์ บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทร ไพศาลโสภณ โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วัดราชบพิธฯ จะเป็นสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญในพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง อาทิ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นท้องพระโรงโถง ยกพื้นสูง มีมุขสองข้างทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ที่ปลายสุดของท้องพระโรงเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร