วันลอยกระทง ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 สำหรับวันลอยกระทงนั้นเป็นวันที่คนไทยจะร่วมกันลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา ที่ได้ใช้น้ำในการดื่มกินน้ำ รวมไปถึงการทิ้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ลงในแม่น้ำ ซึ่งวันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งจริงๆ แล้ววันลอยกระทงนั้นมีหลากหลายตำนานและเรื่องเล่ามากมายกล่าวจุดประสงค์ว่ามีอะไรบ้าง อาทิ เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อบูชาพระแม่คงคา
โดยการเคารพและบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท้องที่ถือว่าลอยกระทงเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในโอกาสที่พระพุทธองค์ได้ไปแสดงธรรมในนาคภิภพ และทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งตำนานได้เล่าไว้ว่า เป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคได้ทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์เตรียมเสด็จกลับ พญานาคจึงได้ทูลขออนุสาวรีย์ไว้สำหรับกราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้ลอยกระทงเพื่อสักการบูชา ส่วนในท้องที่ทางภาคเหนือนั้น มีประเพณียี่เป็ง มีทั้งลอยกระทงและลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งบรรจุอยู่ในจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในส่วนของการเคารพบูชาพระแม่คงคานั้น ถือว่าเป็นเรื่องราวตั้งแต่โบราณที่เราใช้น้ำ อาทิ เวลาสร้างเมือง ต่างก็เลือกติดแม่น้ำ ดังนั้นถึงเวลาในรอบ 1 ปี ก็เลือกเอาวันเพ็ญเดือนสิบสอง ระลึกว่าตลอดปีที่ผ่านมา เราได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต ขณะที่ลอยกระทง ก็ต้องรำลึกว่าต้องรู้จักใช้น้ำอย่างถูกวิธี ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้ทิ้งขว้าง ไม่ทำให้น้ำสกปรก ไม่ปล่อยของเสียลงแม่น้ำ เป็นการขอขมาและขอบคุณพระแม่คงคา
นอกจากนี้ ยังมีตำนานที่กล่าวถึงการลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ อโศการาม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง 84,000 องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฎลีบุตร และยังต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตต์ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิม จากนั้นจึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์
สำหรับพระอุปคุตต์ คนไทยจะเรียกได้อีกชื่อว่า พระบัวเข็ม ซึ่งปัจจุบันพระอุปคุตเป็นรูปเคารพที่สร้างขึ้นแทนพระอรหันต์สาวกสำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่า มีความเป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์ ในสมัยหลังพุทธกาล เช่นเดียวกับที่ “พระโมคคัลลาน์” ได้รับการยกย่องสมัยเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพ คำว่า พระอุปคุต เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจะเขียนว่า ‘อุปคุปต์’ หมายความว่า ผู้คุ้มครองมั่นคง นอกจากนี้ยังมีการเรียกขานกันว่า พระอุปคุตเถระ หรือ พระเถรอุปคุต อันเป็นสัญลักษณ์ที่บอกถึงความมั่นคงในพระธรรมวินัย
อย่างไรก็ตาม นอกจากตำนานและเรื่องเล่าแล้ว ความเชื่อของประเพณีลอยกระทงนั้น ยังเหมือนการลอยทุกข์ ลอยโศก ให้ลอยหายไปพร้อมกับกระทงด้วยการตัดเล็บ ผม และเงินใส่ลงไปในกระทง สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อที่มีมาในในภายหลัง เป็นสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสบายใจ รวมถึงต้องสร้างบุญ ก่อนที่จะไปลอยกระทง ก็ไปทำบุญที่วัดก่อน แล้วนำบุญนั้นมาอธิษฐานในคืนวันลอยกระทง ด้วยกุศลผลบุญอาจจะทำให้การลอยทุกข์ ลอยโศกสัมฤทธิ์ผล