ทำบุญ สรงน้ำพระ วันสงกรานต์ รับสิ่งดีๆวันปีใหม่ไทย

251

การสรงน้ำพระพุทธรูป เพิ่มความเป็นสิริมงคลรับขวัญวันปีใหม่ไทยนั้น เป็นอีกหนึ่งประเพณีดั้งเดิมที่คนไทยปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน ดังนั้นจึงชวนทุกคนมาสืบสานธรรมเนียมประเพณีกับ “5 ขั้นตอน สรงน้ำพระที่บ้าน” เสริมสิริมงคลรับวันปีใหม่ไทยกันครับ

1.กล่าวขอขมาและอัญเชิญพระพุทธจากหิ้งพระ
ขั้นตอนแรกเราควรกล่าวคำขอขมาก่อนเคลื่อนย้ายองค์พระพุทธรูปจากหิ้งพระ เพื่อให้ท่านอภัยในสิ่งที่เราอาจทำไม่ถูกไม่ควร หรือเพื่อไม่ให้เกิดโทษนั่นเอง โดยเริ่มจากท่อง นะโม 3 จบ และตามด้วยบทขอขมา “ระตะนัตตะเย ปะมาเทนะ ทวาระตะเยนะ กะตัง สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต” แล้วจึงอัญเชิญพระพุทธรูปไปยังที่โต๊ะที่จัดเตรียมไว้ชั่วคราวเพื่อสรงน้ำพระ

2.ทำความสะอาดพระพุทธรูป
หลังจากเราสวดขอขมากรรมเสร็จแล้ว จากนั้นก็ย้ายองค์พระพุทธรูปมายังโต๊ะที่จะทำการสรงน้ำ แต่ต้องทำความสะอาดองค์พระเสียก่อน โดยหาผ้าผืนใหม่ หรือฟองน้ำใหม่ มาเช็ดทำความสะอาด ถ้าหากเป็นกรอบรูปภาพพระให้นำฟองน้ำบิดหมาด ไปทำความสะอาดแทน

3.จัดเรียงองค์พระและประดับโต๊ะด้วยดอกไม้
เมื่อทำความสะอาดเสร็จให้นำองค์พระจัดเรียงไว้บนโต๊ะเพื่อเตรียมทำการสรงน้ำ แต่ก่อนจะทำองค์พระวางที่โต๊ะต้องรองด้วยผ้าขาวบางเสียก่อนเพื่อความสะอาดและประดับตกแต่งโต๊ะด้วยดอกไม้หรือกลีบดอกไม้โรยให้สวยงาม

4.เตรียมอุปกรณ์สรงน้ำพระ
สำหรับขั้นตอนต่อไปก็คือ การเตรียมอุปกรณ์สรงน้ำพระ โดยนำพานหรือถาดรอง วางรองพระพุทธรูปเพื่อป้องกันการไม่ให้พื้นเปียกขณะที่เราสรงน้ำพระ เตรียมดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหรือมงคล อาทิ ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ พวงมาลัย น้ำอบหรือน้ำปรุง ขันใบเล็ก และขันใบใหญ่

ตามความเชื่อในอดีตจะใช้น้ำมนต์มาทำน้ำสำหรับสรงพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ถ้าไม่มีก็สามารถใช้น้ำสะอาดผสมกับน้ำอบสูตรภูมิปัญญาไทยเพื่อความหอมรัญจวน และโรยหน้าน้ำด้วยกลีบกุหลาบและดอกมะลิหรือดอกไม้ที่หาได้ตามสะดวกของแต่ละบุคคล

5.สรงน้ำพระพุทธรูป
การสรงน้ำพระพุทธรูป เริ่มต้นด้วยตั้งนโม 3 จบ และตามด้วย “อิมินา สิญฺจะเนเนวะ โรโค โสโก อุปัททะโว นิพพันตุ สัพพะโส เอเต สุขี โหนตุ นิรันตะรัง” แปลว่า “เดชะ ข้าสรงน้ำ พระชุ่มฉ่ำตลอดกาล ทุกข์โศกโรคภัยพาล อันตรธานเป็นสุขเทอญ” หลังจากกล่าวคำอธิษฐานเสร็จแล้ว จึงตักน้ำสรงพระพุทธรูปด้วยความเคารพต่อไป

6.ย้ายพระพุทธรูปกลับสู่โต๊ะหมู่บูชา

ทำบุญ สรงน้ำพระ วันสงกรานต์

หลังจากสมาชิกทุกคนในบ้านสรงน้ำพระครบแล้วรดน้ำครบแล้ว ก็ได้เวลาเคลื่อนย้ายองค์พระกลับไปยังโต๊ะหมู่บูชาดังเดิม แต่ก็อย่าลืมทำความสะอาดโต๊ะเดิมก่อน แล้วเปลี่ยนผ้ารองฐานที่โต๊ะใหม่ทุกครั้ง แล้วจึงนำท่านกลับไปวางที่เดิม ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี อย่างไรก็ดีเราคนไทยชาวพุทธก็ควรไหว้องค์พระพุทธรูปทุกวันพระเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

หากพุทธศาสนิกชนคนไหนที่อยากสรงน้ำพระ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและจิตใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ก็อย่าลืมนำ “6 ขั้นตอน สรงน้ำพระที่บ้าน” ไปปฏิบัติกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดโอกาสติดเชื้อไวรัสจากนอกบ้านอีกด้วย

วันสงกรานต์คือประเพณีปีใหม่ของไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน ดังนั้นกิจกรรมที่ทำเพื่อเสริมสิริมงคลในวันเริ่มต้นปี นอกจากรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอพรปีใหม่แล้ว การสรงน้ำพระก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำเพื่อสร้างสิริมงคลแก่ชีวิตและถือว่าเป็นการทำบุญเสริมดวงรับปีใหม่ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นด้วยเช่นกัน โดยการสรงน้ำพระแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

การสรงน้ำพระพุทธรูป สามารถทำได้ด้วยการจัดเป็นขบวนแห่ หรืออัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานในที่เหมาะสม การสรงน้ำจะใช้น้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำที่ผสมด้วยน้ำอบ น้ำหอมประพรมที่องค์พระ

การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร ใช้แบบเดียวกับการอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่าน หรือที่ฝ่ามือก็ได้ แล้วแต่ความนิยม หากเป็นการสรงน้ำแบบอาบน้ำพระ จะมีการถวายผ้าสบงหรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย

อานิสงส์จากการสรงน้ำพระมีอะไรบ้าง

สำหรับอานิสงส์จากการสรงน้ำพระในวันสงกรานต์ที่เชื่อสืบต่อกันมาคือ

ชำระจิตใจให้ชุ่มชื่น ใสสะอาดด้วยบุญกุศลแห่งความศรัทธา

ชำระล้างผู้ที่คิดร้ายด้วยอคติออกไป

ชำระความรุ่มร้อน นำพาแต่ความสงบร่มเย็นมาให้

ชำระเอาสิ่งไม่ดีออกไป

นอกจากนี้การสรงน้ำพระยังเป็นการแสดงถึงการบูชาบุคคลที่ควรบูชา คือพระพุทธเจ้าด้วยของหอม นั่นคือน้ำสะอาดและดอกไม้ ซึ่งเกิดจากการที่เรามองเห็นความดีของผู้อื่น เช่น มองเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีดีอย่างไรพอเห็นความดีแล้วเราจึงได้มาบูชาความดีของพระพุทธเจ้า ก็เป็นกุศโลบายในการสอนพุทธประวัติได้ อีกอย่างเป็นการสะท้อนใจของผู้มาสรงน้ำว่า เป็นผู้มีใจกว้าง มองเห็นความดีของผู้อื่น จะทำให้เป็นคนที่รู้จักจับถูกไม่ใช่จับผิดผู้อื่น เป็นการแสดงความเคารพและอ่อนน้อมถ่อมตน ถือว่าเป็นการสร้างเสน่ห์ในตัว ใครมีมากคนนั้นมีเสน่ห์มาก เป็นการแสดงความเคารพจากใจไม่ใช่ว่าทำตามๆ กันไป เป็นการประกาศให้ชาวต่างชาติได้เห็นว่า ชาวพุทธก็มีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นแบบแผนดีงามมาช้านาน

หากใครต้องการเสริมสิริมงคลให้ชีวิตในเทศกาลสงกรานต์ ก็สามารถจัดโต๊ะสรงน้ำพระที่บ้านเองได้เลย หรือจะไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัด ศูนย์การค้า ก็มีที่ให้สรงน้ำพระได้เช่นกัน

คำกล่าวอัญเชิญพระพุทธรูปเพื่อนำมาสรงน้ำ

ตั้งนะโม 3 จบ

ระตะนัตตะเย ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง  สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต

( คำแปล กายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 ที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้งในพระรัตนตรัย  ด้วยความตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ขอพระรัตนตรัยได้โปรดยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด)

คำกล่าวสรงน้ำพระพุทธรูป

ตั้งนะโม 3 จบ

อิมินา สิญฺจะเนเนวะ โรโค โสโก อุปัททะโว นิพพันตุ สัพพะโส เอเต สุขี โหนตุ นิรันตะรัง

( คำแปล เดชะ ข้าสรงน้ำ พระชุ่มฉ่ำตลอดกาล ทุกข์โศกโรคภัยพาล อันตรธาน เป็นสุข เทอญ)

หลังจากกล่าวคำอธิษฐานเสร็จแล้ว จึงตักน้ำสรงพระพุทธรูปด้วยความเคารพและจิตใจที่สงบ