หลวงปู่หมุน วัดบ้านจาน

412

หลวงปู่หมุน วัดบ้านจาน หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล เกิดในสกุล“ ศรีสงคราม” หรือ “ แก้วปักปิ่น” ถือกำเนิดเมื่อ วันพฤหัสบดี เดือน 5 ปีชวด พ.ศ. 2437 ณ บ้านจาน อ.กันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ บิดา ชื่อ “ดี” มารดาชื่อ “อั๊ว” มีอาชีพทำไร่ทำนา เป็นเด็กยากจน แต่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ต่อมาบิดามารดาเห็นแววทางด้านพระพุทธศาสนา จึงให้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 14 ปี และนำไปฝากกับพระอาจารย์สีดาเจ้าอาวาสวัดบ้านจาน ซึ่งเป็นพระที่เชี่ยวชาญด้านกรรมฐานและมีวิชาอาคมที่เก่งมาก

ในปี 2460 ขณะอายุได้ 23 ปีได้เข้าอุปสมบทหมู่จำนวน 9 รูป โดยหลวงปู่เป็นรูปที่ 9 โดยมีโยมลุงของท่านเป็นเจ้าภาพ โดยมีหลวงพ่อสีดา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเพ็งเป็นพระอนุสาวนาจารย์และหลวงพ่อผุยเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับรับฉายาว่า “ฐิตสีโล” แปลว่า “ผู้มีศีลตั้งมั่น” จากนั้นได้ศึกษาวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ในแถบนั้นเป็นเวลา 4 ปี ก่อนออกแสวงหาครูบาอาจารย์อื่น ๆ เพื่อศึกษาคันธธุระและวิปัสสนาธุระในชั้นที่สูง ๆ ขึ้นไป

พ.ศ. 2464 หลวงปู่หมุน เริ่มออกศึกษาแสวงหาประสบการณ์โดยได้ร่ำเรียนทั้งเวทย์วิทยา และสมถกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายสำนัก การเดินทางในสมัยนั้นเป็นที่ลำบากยากเย็น ต้องเดินเท้าเปล่าผจญภัยจากผีป่า หรือสัตว์ร้ายนานัปการ แต่หลวงปู่มิได้ย่อท้อ ได้เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมที่ สำนักตักศิลาแห่งบ้านจิกใหญ่ อ.พิบูลมังสาหาร จังหวัด อุบลราชธานี กระทั่งศึกษาคัมภีร์มหาพุทธาคม อันเป็นแม่บทของคัมภีร์ปถมัง คัมภีร์อิทธิเจ คัมภีร์มหาราช คัมภีร์ตรีนิสิงเห ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราพิชัยสงคราม เช่น คัมภีร์นิติประกาศิต คัมภีร์ธนูรเวทว่าด้วยการแต่งเครื่องครอบมนตร์ในสงคราม เป็นต้น

ในช่วงปี 2475-2482 เมื่อหลวงปู่สำเร็จการศึกษาวิชาการต่าง ๆ ก็เก็บบริขารออกธุดงค์ป่าผ่านถิ่นทุรกันดารในชนบทโดยเท้าเปล่ามายังกรุงเทพฯ ในระยะแรกหลวงปู่เข้าพักที่ วัดเทพธิดาราม เป็นการชั่วคราว โดยมีครูทองอินทร์ เป็นครูสอนของวัดเทพธิดาราม เป็นผู้เอื้อเฟื้อจัดหาที่พำนักให้ ท่านได้ให้หลวงปู่อยู่ที่วัดวัดอรุณราชวราราม พำนักอยู่กับพระพิมลธรรม (นาค) ศิษย์สายสมเด็จพระสังฆราชแพ โอกาสนี้หลวงปู่ได้ร่ำเรียนวิชาคัมภีร์มูลกัจจายน์สูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรโบราณอันเก่าแก่ของคณะสงฆ์ไทยที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นตำราที่ละเอียดลึกซึ้ง แตกฉานพระบาลีว่าด้วยคัมภีร์อรรถกถายากยิ่งที่จะมีผู้เรียนได้สำเร็จ ปัจจุบันวิชานี้ได้ยกเลิกไปแล้ว

หลวงปู่หมุนได้เข้าสอบวิชามูลกัจจายน์ นั้น ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งการสอบในสมัยนั้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ และพระเถราจารย์เป็นผู้ทดสอบด้วย โดยมีการถามตอบแบบมุขปาฐะ (ปากเปล่า) ถ้าถามตอบบาลีผิดเกิน 3 คำ ให้ปรับเป็นตกทันที ด้วยความรู้ความสามารถที่แตกฉานในคัมภีร์หลวงปู่สามารถสอบได้เปรียญธรรมถึง 5 ประโยคในคราวเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นหลวงปู่ได้ใช้วิชาความรู้อย่าง คุ้มค่า โดยได้เป็นครูสอนมูลกัจจายน์อยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม (ฝั่งธนบุรี) เป็นเวลานานหลายปี มีลูกศิษย์มากมาย นอกจากนี้ในช่วงหนึ่งหลวงปู่มาพักกับสมเด็จพระสังฆราชแพ ที่วัดสุทัศน์ฯ และได้ศึกษาวิชาบางอย่างกับสมเด็จพระสังฆราชแพอีกด้วย

จากนั้นก็เก็บบริขารเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์ทองดี ที่มาจาก อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย ธุดงค์ ไปทางภาคเหนือเข้าเขตพม่าเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นก็เดินเท้าเปล่าลงภาคใต้ไปพำนักกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ เพื่อปฎิบัติกรรมฐานและแลกเปลี่ยนวิชาอาถรรพณ์เวทมนต์กับพระอาจารย์ทิมอยู่ ประมาณปีกว่า ๆ ก่อนธุดงค์เข้าเขตประเทศมาเลเซีย เพื่อจะเรียนวิชากับพ่อท่านครน วัดบางแซะ ใช้เวลาธุดงค์อยู่ถึง 7 วัน

แต่ไม่พบจึงตัดสินใจกลับวัดช้างให้ ต่อจากนั้นก็ได้เรียนวิชาจากพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช โดยได้ของที่ระลึกจากพ่อท่านคล้ายคือ ชานหมากเม็ดใหญ่เป็นที่ระลึก จากนั้นก็เดินธุดงค์เรื่อยมาจนกลับสู่เขตอีสานอีกครั้งและได้พบกับหลวงปู่สี ฉันทสิริ ในป่าแถบ จังหวัดหนองคาย และได้วิชาลบผงสีจากหลวงปู่สี ซึ่งได้รับสืบทอดมาจากสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆังโฆษิตาราม

ช่วงที่ท่านธุดงค์แถบอุบลราชธานีได้พบกับหลวงปู่มั่น และขอเรียนข้อวัตรปฏิบัติในพระกรรมฐาน แต่ไม่ได้ร่วมคณะธุดงค์ เพราะท่านอยู่นิกายมหายาน หลวงปู่เคยเล่าประวัติในช่วงธุดงค์ให้กับพระภิกษุที่เป็นหลานของท่านว่า เคยได้เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นอยู่พักหนึ่ง ในช่วงที่หลวงปู่ต้องการเจริญสมณธรรม เป็นธรรมอันล้ำลึกยากยิ่งที่ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงจะล่วงรู้ถึงอารมณ์ของ วิปัสสนานี้ได้ หลวงปู่หมุนได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์มั่นอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็แสวงหา ความวิเวก เพื่อประพฤติปฏิบัติต่อไป

จนกระทั่งหลวงปู่แตกฉาน เชี่ยวชาญ ครั้งนั้นหลวงปู่หมุนได้ศึกษาธรรมจนที่สหธรรมมิกที่เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น รู้จักสนิทสนมกับหลวงปู่ทุกองค์ เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นต้น ในตอนที่หลวงปู่หมุนไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่น ท่ามกลางศิษย์สายกองทัพธรรม ในขณะสนทนาธรรมหลวงปู่มั่นได้ปรารภกับหลวงปู่หมุนว่า “ท่านหมุน ท่านเก่งพอตัวอยู่แล้ว หากไม่เจอกันหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปริยัติ ปฏิบัติ และปฎิเวธให้สอบถามท่านแหวนได้ เพราะเขาเก่งมาก” หลวงปู่มั่นได้มอบของที่ระลึกให้หลวงปู่หมุน 2 อย่าง คือ แผ่นจารอักขระใบลาน ม้วนเป็นลูกอมกลม ๆ เขียนเป็นภาษาขอมว่า เย ธมมา เหตุปภวา ฯลฯ เป็นต้น และธนบัตรรัชกาลที่ 8 พร้อมลายเซ็นหลวงปู่มั่น

ภายหลังหลวงปู่ได้มอบให้โยมแม่ท่านไป ต่อมาหลวงปู่มีความกังขาสงสัยในกัมมัฏฐานในเรื่องของ จตุธาตุวัฏฐาน ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติในธาตุทั้ง 4 เป็นมูลฐานของอิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ จึงได้เดินทางไปกราบของความรู้เพิ่มเติมจาก หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ก็ได้รับความกระจ่าง จากนั้นก็ธุดงค์ต่อไป ท่านยังได้ร่ำเรียนวิชาจาก พระอาจารย์สิงห์ วัดป่าสาลวัน หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา

ต่อมาไม่นานก็ได้ร่ำเรียนวิชามีดหมอมหาปราบจากหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว และหลวงพ่อเงิน วัดมะปรางค์หลวง ซึ่งวิชานี้หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ก็เรียนจากหลวงพ่อขำและหลวงพ่อเงิน เช่นกัน นอกจากนี้ในช่วงที่หลวงปู่ธุดงค์มาสู่ภาคตะวันออกแถบจันทบุรี ท่านได้พำนักอยู่กับ หลวงพ่อสอน วัดเสิงสาง กระทั่งหลวงพ่อสอนไว้ใจให้วิชาอาคมและครอบครูให้กับหลวงปู่

หลวงปู่หมุนนับเป็นหนึ่งในทายาท ผู้สืบสายเวทวิทยาพุทธาคมในสายสมเด็จลุนแห่งนครจำปา ศักดิ์ราชอาณาจักรลาวที่ยังดำรงขันธ์อยู่ในปัจจุบัน โดยสมเด็จลุนเป็นที่เลื่องลือในคุณธรรมและอภิญญาอภินิหารอาทิ สามารถเดินบนน้ำได้ ย่นระยะทางได้ แปลงร่างได้ เดินทะลุภูเขาได้กล่าวกันว่าภิกษุสงฆ์ยุคก่อนโน้นต่างดั้นด้นสืบเสาะหาสม เด็จลุน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษามหาวิทยาคม ตลอดจนวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่หมุนเองก็ดั้นด้นธุดงค์ผ่านอุบลราชธานีเข้าประเทศลาวเพื่อสืบเสาะสม เด็จลุน แต่ไม่พบ แล้วมาพักอยู่กับหลายพ่อมหาเพ็ง วัดลำดวน

ในช่วงนั้นหลวงปู่ได้ใช้เวลาค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฏก ในเรื่องพระวินัยปิฏก และพระอภิธรรม ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงการเจริญกัมฏฐานล้วน ๆ ประมาณ 2 เดือนกว่า แล้วก็ออกธุดงค์กลับสู่ประเทศไทยเข้ากรุงเทพฯ มาพักนักที่วัดหงส์รัตนาราม ต่อมาธุดงค์ไปทางอีสานเข้าสู่ประเทศลาวอีก หลายครั้ง จนกระทั่งท่านมีอายุ 30 ปีกว่าแล้ว คราวนั้นหลวงปู่ได้พบกับฆราวาสชื่ออาจารย์ฉันท์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของสมเด็จลุน ที่จังหวัดนครพนม โดยเรียนวิชาจากอาจารย์ฉันท์จนหมดภูมิแล้ว อาจารย์ท่านจึงได้แนะนำฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ดำเหลนของสมเด็จลุนปรมาจารย์ ใหญ่ที่สืบสายเวทวิทยาพุทธาคมในสายสมเด็จลุน

ในการฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ดำนั้น มีกฎเกณฑ์รายละเอียดมากทั้งยังต้องทดสอบภูมิปัญญา และอำนาจของกระแสจิตที่ต้องเข้มแข็งพอที่จะเรียนวิชาของท่านได้ ในรุ่นที่หลวงปู่ฝากตัวเป็นศิษย์นั้นมีมากกว่า 50 รูป แต่หลวงปู่ดำท่านทดสอบวิชา แล้วคัดออกจนเหลือแค่ 3 รูป มีหลวงปู่หมุน หลวงพ่อสงฆ์ (วัดม่วง ลพบุรี) และอีกรูปหลวงปู่ลืมชื่อไปแล้ว สำหรับพิธี ครอบครูของหลวงปู่ดำนั้นมีของยกครูที่หลวงปู่จำได้อย่างแม่นยำคือ

  1. ผ้าไตรจีวร
  2. บาตร
  3. ทองคำหนัก 10 บาท (สำหรับทองคำ จะคืนให้เมื่อเรียนจบ)

และมีข้อห้ามประการสำคัญอีกคือ ห้ามสึกตลอดชีวิต ถ้าสึกไปชีวิตก็จะหาไม่ ในการครอบวิชานี้ถือว่าเป็นสุดยอดเคล็ดวิชา วิทยาคม ในสายของสมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ ซึ่งกว่าจะเรียนจบต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะบำเพ็ญเพียรอย่างมาก ได้จำวัดพักผ่อนวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น อาหารต้องฉันมื้อเดียว และขั้นตอนสุดท้ายที่จะสำเร็จวิชานี้จะมีการทดสอบอย่างพิสดาร

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เชื่อกันว่าหลวงปู่หมุนท่านสำเร็จวิชาสำเร็จธาตุ 4 มาจากสายสมเด็จลุน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าวิชาสายนี้ลึกลับเกินปุถุชนคนธรรมดาจะเรียนได้สำเร็จ ผู้ที่จะเข้าถึงได้ต้องเป็นผู้ที่มีบารมีมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เพราะการควบคุมธาตุ 4 ได้นั้นผู้ที่จะสามารถทำการนี้ได้ต้องสำเร็จจตุตฌานเป็นบาทฐานในการทำ และยังต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกสิณจตุธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟอีกด้วย

หลังจากนั้น หลวงปู่ก็กลับมาจำพรรษา ที่วัดบ้านจาน จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์ รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน ที่ “พระครูหมุน ฐิตสีโล” หลวงปู่ได้ปฎิบัติศาสนกิจตามที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลาถึง 20 ปี จึงลาออกจากทุกตำแหน่ง ต้องการใช้ชีวิตที่เหลือบำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติพระวิปัสสนาธุระ อย่างเดียว ประมาณปี 2487

ในช่วงที่หลวงปู่อายุ 50 ปี ท่านเก็บบริวารออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าดงดิบ โดยลำพังแต่ผู้เดียว และในช่วงนี้เองที่หลวงปู่ได้พบกับอาจารย์จ่อยและอาจารย์ขวัญ วัดป่าหนองหล่ม ในระหว่างที่หลวงปู่ธุดงค์โดยบังเอิญ อาจารย์ทั้ง 2 จึงได้นิมนต์หลวงปู่โปรดญาติโยมที่วัดป่าหนองหล่ม หลังจากที่หลวงปู่หมุนเดินธุดงค์แสวงหาธรรม อยู่หลายสิบปี

ประมาณปี 2520 ท่านจึงกลับมายังวัดบ้านจาน ซึ่งวัดบ้านจานในยามนั้น มีอายุกว่า 200 ปี อยู่ในสภาพทรุดโทรม ท่านจึงได้พัฒนาวัด สร้างอุโบสถขึ้นมา ด้วยหยาดเหงื่อและแรงจิต ทำให้อุโบสถเสร็จสมบูรณ์ในเวลาอันสั้น นอกจากนี้ท่านยังได้ช่วยเหลือลูกศิษย์และสหธรรมิก อีกหลายวัดเช่น วัดป่าหนองหล่ม, วัดโนนผึ้ง, วัดซับลำใย, และคณะศิษย์วัดสุทัศน์ฯ ในการสร้างถาวรวัตถุของวัด จนเป็นที่มาของ วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมในหลายรุ่นต่อมา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังแทบทุกรุ่น ที่ท่านจัดสร้างขึ้น จึงเป็นที่นิยมในหมู่ศิษยานุศิษย์ ด้วยเชื่อในพลังแห่งบุญฤทธิ์จิตตานุภาพของท่าน

จนกระทั่งเมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 11 มี.ค.2546 หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล พระอมตะเถระ 5 แผ่นดิน แห่งวัดบ้านจาน อ. กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ มรณภาพลงอย่างสงบบนกุฎี สิริอายุ 109 ปี 86 พรรษา