“ไม่เหนียว ก็ไม่ใช่วัดหนังซิวะ” หลวงตาช้วน วัดหนัง ท่านกล่าวกับศิษย์ที่ไปกราบเสมอ

538

พระครูวิบูลศีลวัตร (ช้วน ปาสาทิโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดหนังราชวรวิหาร
สถานะเดิม…ชื่อ ช้วน นามสกุล อ่องสาธร เป็นบุตรโยมบิดา เชื้อ โยมมารดา อบ อ่องสาธร เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๓ ตรงกับ วันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ ณ บ้านโคกขาม จ.สมุทรสาคร ต่อมาจึงได้ย้ายมาทำสวนส้มเขียวหวานอยู่ที่ บางมด บางขุนเทียน ธนบุรี  มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน โดยที่ท่านเป็นบุตรคนที่2  วัยเด็กได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดยายร่ม จากนั้นได้เข้ารับราชการทหารเกณฑ์ สังกัดกองทหารรักษาพระองค์ฯ ประจำวังจันทร์เกษม ตามกำหนดรับราชการทหาร ๒ ปี ก็ปลดประจำการณ์ จึงได้มาอยู่ ช่วยบิดามารดา ทำสวนส้มเขียวหวานที่บางมดตามเดิม

อุปสมบท

เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๘๐ ขณะที่มีอายุ ๒๘ ปี ได้เข้ารับการบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดหนังราชวรวิหาร เขตบางขุนเทียน ธนบุรี (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น) เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร โดยมี   

  • พระวิเชียรกวี (ฉัตร อินทสุวณโณ) เป็น พระอุปัชฌาย์
  • พระญาณรังษี (ผวน ภทธโร) เป็น พระกรรมวาจาจารย์
  • พระครูภาวนาภิรัต (ผล คุตตจิตโต) เป็น พระอนุสาวนาจารย์

ได้รับเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นามว่า “พระช้วน ปาสาทิโก

สมณศักดิ์

  • พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมของ พระวิเชียรกวี(หลวงปู่ฉัตร) ที่ พระครูสมุห์
  • พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมของ พระวิเชียรกวี(หลวงปู่ฉัตร) ที่ พระครูสังฆรักษ์
  • พ.ศ.๒๕๐๓ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมของ พระสุนทรศีลสมาจาร(หลวงปู่ผล) ที่ พระปลัด
  • พ.ศ.๒๕๒๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์แต่งตั้งเลื่อนเป็น พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท ที่ พระครูวิบูลศีลวัตร
  • พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์แต่งตั้งเลื่อนเป็น พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ที่ พระครูวิบูลศีลวัตร
  • พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์แต่งตั้งเลื่อนเป็น พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ที่ พระครูวิบูลศีลวัตร

งานสงเคราะห์

นอกจากศึกษาพระธรรมวินัยอย่างแตกฉานแล้ว ท่านยังได้ศึกษาตำรายาแผนโบราณจาก พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระสุนทรศีลสมาจาร (หลวงปู่ผล) เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ช่วยเหลือชาวบ้านด้วยความเมตตาเป็นที่ตั้ง ตัวยาที่โดเด่นในการใช้รักษาก็คือ ยาเป่าฝี ยารักษาโรคต่าง ๆ และ ยาเขียวใหญ่ เป็นยาสมุนไพรที่ปรุงแจกในการทำแต่ละครั้งเป็นกระถางมังกรใบใหญ่ ๆ ใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วันก็ต้องทำใหม่อีกอยู่อย่างนี้เป็นประจำเสมอ ๆ หลวงตาช้วน มักจะได้รับการอาราธนาเข้าร่วมนั่งปรกพิธีพุทธาภิเษก เป็นประจำในปริมณฑล กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ท่านได้รับการอาราธนาเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ณพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เรื่องของงานบุญต่าง ๆ ท่านไม่เคยพลาดร่วมบริจาคช่วยเหลือกับทางเจ้าอาวาสวัดหนัง ตามโอกาสเวลาเป็นประจำ ท่านเป็นแบบอย่างของพระที่ไม่สะสมเงินตรา ไม่สะสมของมีค่า ประการใด ๆ อยู่แบบสมถะ มักน้อย สันโดษ เคารพครูบาอาจารย์เป็นอย่างสูง

ชราภาพ มรณภาพ

พระครูวิบูลศีลวัตร (ช้วน ปาสาทิโก) เมื่อมีอายุมากขึ้นสภาพสังขารเสื่อมโทรมลงตามลำดับ อวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ความเจ็บไข้อาพาธรุกโรมเข้ามาสู่สังขารร่างกาย ด้วย กำลังใจที่เข้มแข็ง จึงทำให้ดูเหมือนท่านไม่เป็นอะไรมาก ได้รับการดูแลจากน้อง หลาน ฝ่ายคฤหัสถ์ และฝ่ายบรรพชิต คอยเปลี่ยนวาระถวายการปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด หลวงตาเริ่มอาพาธหนักด้วยโรคชรา ญาติ ๆ จึงได้นำเข้ารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทางคณะแพทย์พยาบาลก็ได้ทำการรักษาดูแลเอาใจใส่เป็ยอย่างดี ช่วยให้หลวงลุงดำรงสังขารมาได้จนถึงวันจันทร์ที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ เวลา ๑๖.๑๘ น. ท่านก็ถึงกาลมรณภาพ ละสังขารด้วยอาการสงบยังธรรมสังเวช และความเศร้าสลดใจให้เกิดแก่ญาติ ๆ ศิษยานุศิษย์ พุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง สิริอายุได้ ๙๐ ปี ๖ เดิอน ๑๘ วัน พรรษา ๖๒

ด้านวัตถุมงคล

หลวงตาช้วนถือได้ว่าเป็นสายวัดหนังรูปสุดท้ายที่ได้รับวิชามาจากหลวงปู่ผลอีกทีก็ว่าได้ พระเครื่องวัตถุมงคลที่ท่านสร้างมีมากมายหลายอย่าง เช่น

  • เหรียญคอตรงและคอเอียงหลวงปู่ผลปี2512 ใช้แจกเป็นของชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ผล
  • พระชัยวัฒน์เนื้ออัลปาก้า สร้างในปี2512 เช่นเดียวกับเหรียญคอตรงและคอเอียง
  • หมากทุย
  • ตะกรุดโทน ตะกรุดท่อ
  • พระปิดตา รุ่นต่างๆ
  • พระสมเด็จ
  • รูปถ่ายหลวงปู่เอี่ยม – หลวงปู่ผล หลังจาร
  • เหรียญหลวงปู่เอี่ยมปี2525
  • เชือกผูกคอเด็ก
  • พระปิดตางาแกะ เป็นต้น

จึงไม่แปลกใจที่วัตถุมงคลของท่าน หลายๆชนิดในสนามพระขายเป็นของหลวงปู่ผลหรือแม้กระทั้ง พระปิดตาปี2506 ที่ท่านทำแล้วให้หลวงปู่ผลปลุกเสกเพื่อแจกเป็นของชำร่วยในงานศพโยมพ่อของท่าน เซียนพระหรืองานประกวดต่างๆยังยัดเข้าไปเป็นพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมก็มี แม้ว่าท่านจะสร้างเหรียญของครูบาอาจารย์มามากมาย แต่เหรียญรูปเหมือนของท่าน ท่านสร้างแค่รุ่นเดียวคือปี2542 โดยท่านให้

เหตุผลที่ไม่สร้างเหรียญรูปเหมือนของท่านว่า “จะสร้างทำไม เหรียญครูบาอาจารย์ก็ยังมีอยู่”