หลวงพ่อวัดบ้านแหลม

199

หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือที่เรียกว่าวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวเมืองแม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงคราม

ตามตำนานเล่ากัน หลวงพ่อบ้านแหลม มีความสัมพันธ์กับตำนานหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่มีเพิ่มเติมจำนวนพระพุทธรูปจาก 3 องค์ เป็น 5 องค์ กล่าวคือ มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้แยกย้านกันไปประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ รวม 5 จังหวัด

  1. องค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกงและได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร
  2. องค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรีและได้ไปประดิษฐานที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี(อำเภอสามพราน) จังหวัดนครปฐม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง
  3. องค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาและได้ไปประดิษฐานที่วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ได้ชื่อว่า หลวงพ่อโต
  4. องค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลองและได้ไปประดิษฐานที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เมืองแม่กลอง ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่า หลวงพ่อบ้านแหลม
  5. องค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรีและได้ไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ได้ชื่อว่า หลวงพ่อเขาตะเครา

หลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2307 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมง วันหนึ่งได้มีชาวประมงไปลากอวนหาปลาที่ปากแม่น้ำแม่กลอง และอวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ วัดศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่งได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี

วัดศรีจำปา นี้ต่อมาได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายไว้เนื่องจากบาตรเดิมอาจจมหายอยู่ในน้ำก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง

สมัยก่อนเมื่อผู้ใดได้รับความเจ็บป่วย หรือทุกข์ร้อนประการใด ก็มากราบนมัสการบนบานต่อหลวงพ่อ ความเจ็บป่วยหรืออาการทุกข์ร้อนนั้นก็พลันหายไปหรือไม่ก็ทุเลาเบาบางลงจนเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป แม้แต่ชาวจีนที่เข้ามา พึ่งบรมโพธิสมภารก็พากันนับถือเป็นอันมาก พากันมาเซ่นไหว้ในวันสำคัญของจีน หรือในวันอื่น ๆ แล้วแต่โอกาสเสียงจุดประทัดบูชาดังสนั่นหวั่นไหว พวกละครชาตรีหรือละครไทยและงิ้ว ที่ประชาชนหามาแสดงจะพบเห็นอยู่เสมอ กล่าวกันว่าพวกละครหรืองิ้วที่แสดงถวายนี้ ถ้าไม่รำถวายมือหลวงพ่อวัดบ้านแหลม เสียก่อน บางคนถึงกับชักดิ้นชักงอหรือมีอันเป็นไปต่างๆ จึงเลยเกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีว่า ก่อนจะแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ต้องรำถวายมือต่อหลวงพ่อเสียก่อนเป็นการสักการะ และครั้งหนึ่งชาวจีนได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าในความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารของหลวงพ่อ ได้พากันนำงิ้วมาแสดงถวาย ประชันกันถึง ๕ โรง

บางคนป่วยหนักหมดหวังในชีวิต หมอละทิ้งไม่มีผู้ใดรับรักษาพยาบาล ก็มาขอบารมีหลวงพ่อให้ช่วยชีวิต โดยรับเอาน้ำมนต์ ดอกไม้ที่บูชาหลวงพ่อเอาไปรับประทานและพอกทา อาการป่วยก็หายวันหายคืนและกลับเป็นปกติก็มีอยู่หลายรายบางคนตกทุกข์ได้ยากไปบนบานปิดทองนมัสการ ขอให้หลวงพ่อช่วย หลวงพ่อก็ช่วยเหลือได้สมประสงค์ ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดบ้านแหลมมีมากมายจนประชาชนยกย่อง เป็นพ่อบ้านพ่อเมือง มีอภินิหารปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกผู้ทุกนาม เป็นที่สักการบูชา เป็นมิ่งขวัญของชาวเมืองสมุทรสงครามมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อคราวอหิวาตกโรคระบาดที่กรุงเทพฯ และหัวเมือง ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ นั้น ที่เมืองสมุทรสงคราม ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเงียบเหงาไปทั้งเมือง ไม่มีใครอยากออกจากบ้าน ไม่มีใครเผาศพใครด้วยเชื่อกันว่าเป็นโรคผีโรคห่า ครั้งนั้น พระสนิทสมณคุณ (เนตร) เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) ในเวลานั้น ฝันว่า หลวงพ่อบ้านแหลม พระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรในพระอุโบสถ มาบอกคาถาป้องกันอหิวาตกโรคให้บทหนึ่ง โดยบอกให้ท่านเจ้าอาวาสไปจดเอาคาถาที่พระหัตถ์ พระสนิทสมณคุณจึงลุกไปปลุกขุนประชานิยม (อ่อง ประชานิยม) ซึ่งขณะนั้นเป็นเด็กวัด ให้เข้าไปในพระอุโบสถด้วยกันกลางดึก ท่านได้เอาเทียนส่องดูที่พระหัตถ์ทั้งสองข้างของหลวงพ่อบ้านแหลม เห็นที่พระหัตถ์ขวามีอักขระว่า “นะ มะ ระ อะ” และที่พระหัตถ์ซ้ายมีอักขระว่า “นะ เท วะ อะ” ท่านจึงจดคาถามาทำน้ำพระพุทธมนต์ให้ชาวบ้านเอาไปกินไปอาบ ปรากฏว่าโรคภัยไข้เจ็บก็เงียบสงบตั้งแต่นั้นมา
พระคาถา “นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ” นี้ ท่านพระยาราชพงษานุรักษ์ (ชาย บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม (พ.ศ.๒๔๔๓ -๒๔๖๐) นับถือมาก เมื่อถึงวันสงกรานต์ ท่านจะนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป มาฉันภัตตาหารที่จวนของท่านแล้วให้พระสงฆ์เขียนพระคาถา “นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ” เป็นอักขระขอมปิดไว้ที่ประตูเข้าจวนของท่านทุก ๆ ปี
พระครูสมุทรธรรมธาดา (หลวงพ่อเอิบ มนาโป) เจ้าอาวาส วัดดาวโด่ง สมุทรสงคราม ท่านเคารพนับถือหลวงพ่อบ้านแหลมมาก เหรียญที่ท่านสร้างขึ้น จารึกพระคาถา “นะมะระอะ นะเทวะอะ” ไว้ด้านหลัง ร่ำลือกันว่าขลังนัก

พระคาถา “นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ” ของหลวงพ่อวัดบ้านแหลมนี้ ท่านอาจารย์เทพ สุนทรศารทูล ผู้บันทึกประวัติหลวงพ่อวัดบ้านแหลมและถวายเป็นลิขสิทธิ์ของวัด ได้เคยกราบเรียนถามสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิท เขมจารีมหาเถร ป.ธ.๙) วัดปทุมคงคา แต่ท่านก็ไม่อาจจะวินิจฉัยได้ว่าแปลว่าอะไร จึงสันนิษฐานว่า พระคาถาดังกล่าวน่าจะย่อมาจากพุทธพจน์

“นะ มะ ระ อะ” แปลว่า พระอรหันต์ไม่ตาย

(นะ คือ ไม่, มะ ระ คือ มรณะ, อะ คือ อรหันต์)

“นะ เท วะ อะ” แปลว่า พระอรหันต์ไม่ใช่เทวดา

(นะ คือ ไม่, เท วะ คือ เทวดา, อะ คือ อรหันต์)
คำอาราธนาหลวงพ่อวัดบ้านแหลม

สะทา วะชิระสะพุททะวะวะ วิหารเร
ปติฏฐิตัง นะระเทโวหิ ปูชิตัง ปัตตะหัตตัง
พุทธรุปัง อะหัง วันทามิ ทูระโต

คาถาหลวงพ่อวัดบ้านแหลม

นะมะ ระอะ นะ เท วะ อะ