หลวงพ่อทอง สุทธสีโล วัดบ้านไร่

253

หลวงพ่อทอง สุทธสีโล เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๒ บิดาชื่อ นายบัว กล้าหาญ และมารดาชื่อ นางภู กล้าหาญเดิมอยู่บ้านโนนสูง ต.วังหิน อ.ประทาย จ.นครราชสีมา หลวงพ่อทอง ท่านเล่าว่า.. ท่านเกิดมาก็อาภัพ พ่อกับแม่แยกทางกัน ต้องไปอาศัยอยู่กับพ่อใหญ่แม่ใหญ่ (ตายาย) โดยไปอยู่พร้อมกับพี่สาวชื่อนางบุญตา(เสียชีวิตแล้ว)ต่อมาแม่ก็มาเสียชีวิตลง ทำให้ไร้ที่พึ่งตั้งแต่วัยเด็ก ดีที่ตาเที่ยงกับยายเทียม ให้ความรักใคร่หลานทั้ง ๒ คน ชีวิตวัยเด็ก ไม่ได้สนุกสนานเหมือนเด็กในวัยเดียวกันต้องทำนาและเลี้ยงควาย ช่วยตากับยายซึ่งแก่ชราแล้ว มีวันหนึ่งที่ หลวงพ่อซุกซนปืนขึ้นไปเล่นบนกิ่งไม้ แล้วหักลงมาถูกคันนา หัวแตกจนเป็นรอยแผลเป็นทุกวันนี้

เมื่อจบชั้น ป.๔ จาก ร.ร.วัดบ้านโนนสูง ต.วังหิน อ.ประทาย จ.นครราชสีมา หลวงพ่อทองต้องเร่ร่อนตามน้าบ่าว (น้องชายแม่) ไปรับจ้างทั่วไป ทั้งทำนาหรือเกี่ยวข้าว ได้ค่าจ้างวันละ ๕ บาท เพื่อมาใช้จ่ายจุนเจือในครอบครัว เพื่อหารายได้เสริม เพราะพ่อใหญ่แม่ใหญ่อายุมากแล้ว แต่ครั้งที่ท่านลำบากที่สุดในชีวิตส ก็คือการติดตามคนในหมู่บ้าน ไปรับจ้างตัดฟืน ที่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา (เผาถ่านส่งขายนายทุน) ช่วงนั้นต้องอยู่กินอย่างอดๆ อยากๆ ต้องไปเซ็นข้าวพริกหรือปลาทูเค็ม มากินถึงเวลาขายฟืนและเผาถ่านได้ เค้าก็หักเงินไป การไปรับจ้างตัดฟืนและเผาถ่านครั่งนั้น หลวงพ่อทองท่านต้องล้มป่วยลง ด้วยเป็นไข้ดง (มาเลเรีย) ท่านถูกส่งมารักษาตัวอยู่ที่โคราช เมื่อหายดีก็ไปทำงาน รับจ้างเฝ้าสวนมะม่วงให้เจ้านาย ที่หัวทะเล (ใกล้กับป่าช้าจีน จ.นครราชสีมา)

เมื่อถึงอายุ ๒๑ ปี ท่านผ่านการเกณฑ์ทหาร จับได้ใบดำ จึงคิดออกบวช ทดแทนบุญคุณพ่อแม่ (แม้นว่าท่านจะสิ้นไปแล้ว) แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีเงินแม้นแต่จะซื้อผ้าไตรจีวร ดีที่มีญาติของเจ้านาย เป็นครูที่ ร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย รับเป็นเจ้าภาพ จัดซื้อเครื่องบวชให้ ท่านว่าบุญคุณครั้งนี้ ท่านไม่เคยลืมจำได้กระทั่งลูกหลาน ของผู้มีพระคุณ หลวงพ่อทอง เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่ออายุครบ ๒๒ ปี พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงพ่อทอง สุทธสีโล ก็ได้มาจำพรรษาอยู่วัดศรีแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา พ.ศ.๒๕๑๔ ขณะนั้นมี หลวงพ่อแถว เป็นเจ้าอาวาสวัด ส่วนหลวงพ่อคูณ เป็นพระลูกวัด หลวงพ่อคูณได้เห็นหลวงพ่อทอง เป็นพระที่มีอัธยาศัยดี เงียบขรึม ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยค่อยจา มีความนอบน้อมอ่อนโยน เป็นพระที่เรียบร้อย และมีความตั้งใจในการทํากิจเป็นอย่างมาก หลวงพ่อคูณ จึงได้ถ่ายทอดวิชาและพระคาถารวมไปถึงการจารอักขระต่างๆ ในตะกรุด และยันต์ ก็เลยนับกันเป็นศิษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อคูณไปไหนก็จะนำพาหลวงพ่อทองไปด้วย ศิษย์หลวงพ่อคูณมีอยู่ทั่วประเทศ แต่ที่ถ่ายทอดวิชา ให้และรับเป็นศิษย์เอกก็คือ “หลวงพ่อทอง สุทธสีโล” ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๗ หลวงพ่อคูณ เห็นว่า “หลวงพ่อทอง สุทธสีโล” ควรแล้วที่จะต้องนําวิชาที่มีออกมาใช้บําเพ็ญประโยชน์ จึงได้ให้ร่วมปลุกเสก เหรียญ หลวงพ่อคูณ ปี พ.ศ.๒๕๑๗” ซึ่งในปัจจุบัน เหรียญหลวงพ่อคูณ ปี พ.ศ.๒๕๑๗ นี้ เป็นที่ต้องตาต้องใจเหล่าเซียนพระเป็นอย่างยิ่ง

“หลวงพ่อทอง สุทธสีโล” คือพระที่หลวงพ่อคูณไว้วางใจมากที่สุด จนถึง ปี พ.ศ.๒๕๓๓ หลวงพ่อคูณ เห็นว่า วัดพระพุทธบาทเขายายหอม ต.นายางกลัก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เป็นวัดที่เรียบสงบร่มเย็น เหมาะอย่างยิ่งที่จะฝึกสมาธิและเจริญภาวนา จึงได้ส่งหลวงพ่อทองไปจําพรรษาที่วัดพระพุทธบาทเขายายหอม ทั้งนี้ หลวงพ่อคูณ ก็ยังให้ลูกศิษย์นําตะกรุดทองคําฝังแขน ตะกรุดโทน รวมไปถึงตะกรุดชายจีวร ไปให้หลวงพ่อทองลงเหล็กจารอักขระ ถึงบนวัดพระพุทธบาทเขายายหอม
เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พบเห็นหลวงพ่อทอง เป็นพระที่มีอัธยาศัยดี เงียบขรึม ไม่ค่อยพูด ค่อยจา มีความนอบน้อมถ่อมตน เป็นพระที่เรียบร้อย และมีความตั้งใจในการทำกิจสงฆ์เป็นอย่างมาก จึงได้ถ่ายทอดสรรพวิชาและพระคาถา รวมไปถึงการจารอักขระต่างๆ ในตะกรุดและเลขยันต์ ให้หลวงพ่อทองจึงนับกันเป็นอาจารย์–ศิษย์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนจวบจนทุกวันนี้หลวงพ่อทองและคณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อทอง ได้ร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญ บูรณะและพัฒนา วัดตระคลอง ต.ซับสมบูรณ์ อ.โคกโพธิ์ไชย จ.ขอนแก่น และช่วยเหลือในงานสาธารณประโยชน์ของพระพุทธศาสนา ช่วยเหลือชุมชนสืบไป