หลวงปู่อั๊บ วัดท้องไทร เจ้าของตำรับ”ตะกรุดกันงู” อันเกรียงไกร

340

บันทึกชีวประวัติพระเดชพระคุณ พระอธิการเกษม(อั๊บ) เขมจาโร
อดีตเจ้าอาวาสวัดท้องไทร ต.แหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
         หลวงพ่อมีนามเดิมว่า เกษม ทิมมัจฉา เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๘สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๕    ขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน๙ ปีจอ ที่บ้านแหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม บิดาชื่อ อุ๋ย  ทิมมัจฉา  มารดาชื่อ ผิว  ทิมมัจฉา เป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้อง ๑๒ คน อาชีพเกษตรกร จบการศึกษาชั้นป.๒  ในวัยเด็กได้ไปพักกับพระน้าชายชื่อ พระเล็ก  ที่วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี  จ.นครปฐม ซึ่งขณะนั้นมี พระพุทธวิถีนายก(หลวงปู่บุญ ขันธโชติ) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งหลวงปู่บุญเป็นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอันมากแม้แต่สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ยังให้ความเคารพ หลวงปู่อั๊บได้เล่าว่า ตอนท่านเป็นเด็กยังได้เคยรับใช้ บีบนวดหลวงปู่บุญบ่อยๆครั้ง เพื่อนเด็กวัดรุ่นเดียวกันนั้นมีอยู่คนหนึ่งต่อมาภายหลังได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์และได้ทำคุณประโยชน์ให้กับการศึกษาทั้งทางโลกและศาสนาอย่างมากมาย คือพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณปรมาจารย์  (ท่านเจ้าคุณ ปัญญา) เจ้าอาวาส วัดไร่ขิง นั่นเอง  ส่วนพระเล็กพระน้าชายได้บวชที่ วัดใหม่สุคนธาราม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐมและได้ย้ายไปจำพรรษาหลายวัด อย่างเช่น วัดห้วยตะโก วัดปลักแรด  วัดหนองบัว วัดกลางบางแก้ว เป็นต้น ได้บวชเป็นพระนานอยู่ถึง ๑๘พรรษาจึงลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตเป็นฆราวาสและมีครอบครัวอย่างชาวโลกทั่วไป   นับได้ว่าเป็นผู้มีวิชา อาคมขลังคนหนึ่ง ในปีที่หลวงปู่บุญ ได้มรณภาพลงนั้นตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๗๘หลวงปู่อั๊บ มีอายุได้ ๑๓ ปี เมื่อหลวงปู่บุญได้มรณภาพลงแล้ว หลวงพ่อเกษม (อั๊บ) ได้กลับไปอยู่กับบิดา-มารดาที่บ้านท้องไทร ช่วยกิจการงานบ้าน    ทำนา อย่างขยันขันแข็ง จนอายุครบที่จะทำการบรรพชา อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้ทำการ อุปสมบท ณ.พัทธสีมา วัดทุ่งน้อย ต.แหลมบัว    อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

โดยในสมุดใบสุทธิของหลวงปู่อั๊บ ได้บันทึกไว้ดังนี้……….

         พระอุปัชฌาย์ พระอธิการมา วัดทุ่งน้อย พระกรรมวาจารย์ พระอธิการฮะวัดโคกเขมา   (อ่านโคกขะเหมา) พระอนุสานาจารย์ พระอธิการพลัด วัดท้องไทร
           อุปสมบท เมื่อ อายุ  ๒๐ ปี  เมื่อวันที่ ๒๘ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.  ๒๔๘๕เวลา๑๕.๑๘ น.   ณ.วัดทุ่งน้อย ต.แหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม หลังจากอุปสมบทแล้วได้กลับมาอยู่ที่วัดท้องไทร อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อบวชได้ ๓พรรษา ได้เดินเท้าไปวัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี เพื่อไปหาพระเล็กพระน้าชายซึ่งขณะนั้นได้ไปพักจำพรรษาอยู่ที่นั่น วัดหนองบัว ขณะนั้นมี หลวงปู่เหรียญ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นเจ้าอาวาสอยู่ หลวงปู่เหรียญท่านนี้ เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ยิ้มอดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนซึ่งมีวิชาอาคมเก่งกล้าเป็นยิ่งนัก แม้แต่หลวง ปู่ศุขวัดมะขามเฒ่า ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ร่วมสมัยกันยังเกรงใจ ในวิชาของหลวงปู่ยิ้ม และยังเคยเดินทางมาพัก  ที่วัดหนองบัว    ส่วนพระสหธรรมิกอีกรูปหนึ่งที่สำคัญของหลวงปู่ยิ้ม คือ หลวงปู่บุญ  วัดกลางบาง แก้ว ในหนังสือประวัติ   วัดหนองบัวบันทึกไว้ว่า ในวันที่เผาศพหลวงปู่ยิ้มนั้นไม่สามารถ เผาร่างสังขารของท่านได้ จนต้องนิมนต์หลวงปู่ขึ้นไปทำพิธี จึงสามารถเผาศพของท่านติดไฟได้  นับว่าอัศจรรย์เป็นยิ่งนัก หลวงปู่อั๊บท่านเล่าว่า อยากจะขอเรียนวิชากับหลวงปู่เหรียญแต่พระน้าชายไม่ยอมให้เรียน แต่ในขณะที่พักอยู่ที่วัดหนองบัวประมาณ ๒เดือน ได้มีชาวบ้านในแถวนั้นได้นำพระเนื้อดินเผาและพระเนื้อผงมาถวายท่าน ( เป็นพระที่สมัยหลวงปู่ยิ้ม แห่งวัดหนองบัวได้ทำการจัดสร้างไว้แล้วนำไปบรรจุไว้ตามในถ้ำในเขตวัดหนองบัว) อาทิเช่น พระพิมพ์ยืนประทานพร พิมพ์ขุนแผนซุ้มเรือนแก้ว พิมพ์ปางมารวิชัย  พิมพ์๓ ชั้นหูบายศรี พิมพ์สมเด็จ ๓ชั้นพิมพ์สมเด็จ๗ ชั้นและพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ เป็นต้น

            เมื่อหลวงปู่อั๊บท่านได้กลับมายังวัดท้องไทร ท่านได้นำพระเหล่านั้นกลับติดตัวมาด้วย บางส่วนท่านได้ทำการแจกให้แก่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดไปพอประมาณ เมื่อมีผู้ที่นำไปบูชาแล้วได้เกิดอภินิหารมากมายแล้วกลับมาเล่าให้ท่านฟังท่านจึงได้นำชึ้นไปเก็บที่ห้องบนกุฏิท่านและไม่ได้นำออกมาอีกเลย หลังจากที่หลวงปู่ได้กลับมาอยู่ที่วัดท้องไทรแล้วนั้นท่านได้ไปฝากตัวขอเป็นศิษย์ กับ หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา เพื่อขอเล่าเรียนวิชาอาคมต่างๆจากหลวงพ่อน้อย   หลวงพ่อน้อย ท่านนี้มีความเก่งกล้าในวิชาอาคมเป็นอย่างยิ่งนัก ยิ่งวาจาของท่านแล้วเป็นปกาศิตยิ่งนัก หรือ วาจาศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง พูดสิ่งใดแล้วมักเป็นสิ่งนั้น แม้แต่หลวงพ่อเงิน แห่งวัดดอนยายหอมยังให้ความนับถือ ซึ่งหลวงพ่อน้อยท่านก็เมตตาถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆให้อย่างไม่ปิดปัง พร้อมทั้งยังมอบ ตำรายันต์พระเวทย์ให้กับหลวงปู่อั๊บมา 1 เล่ม (ของพ่อน้อย วัดธรรมศาลา ๑เล่ม หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก๑ เล่ม) เป็นตำรายันต์ลายมือหลวงพ่อน้อย มีบางส่วนที่เป็นลายมือของพระตุ๋ยซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อน้อยซึ่ง หลวงพ่อน้อยเรียกมาใช้บ่อยๆเพราะเขียนอักขระเลขยันต์ได้สวยงามดี  (ต่อมาได้ลาสิกขาเป็นฆราวาส)  นับได้ว่าหลวงพ่อน้อยท่าน เป็นครูอาจารย์ที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งของหลวงปู่อั๊บเลยที่เดียวและในช่วงเวลาที่หลวงปู่อั๊บว่างท่านได้เดินทางไปกราบ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้องและได้ขอเรียนวิชาจากหลวงพ่อแช่มมาด้วยอย่างเช่น การนำกระเบื้องแตกมาลงอักขระแล้ว นำไปไว้ในใจกลางที่ดินเพื่อที่จะขายเป็นต้น                                                              

ส่วนอีกองค์หนึ่งคือหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยางซึ่งเป็นสหธรรมมิคกันกับหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้องหลวงปู่อั๊บท่านได้กราบขอเป็นศิษย์เช่นกัน แต่หลวงพ่อจันทร์ท่านสั่งให้ไปหาที่วัดและให้นำหัวหมูไปด้วย๑ หัวแล้วท่านจะถ่ายทอดวิชาให้หมด

            แต่เมื่อหลวงปู่อั๊บได้กลับมาวัดท้องไทรแล้วได้ล้มป่วยลงด้วยไข้มาลาเรียหรือสมัยนั้นเรียกว่าไข้ป่า ท่านเล่าว่าป่วยคราวนั้นเกือบตายเป็นๆหายๆอยู่ประมาณ๓ เดือน เมื่อหายจากไข้จึงทำการเดินทางไปหาหลวงพ่อจันทร์อีกครั้ง แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่าหลวงพ่อจันทร์ท่านได้มรณภาพลงเสียแล้ว จึงไม่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อจันทร์เอาไว้เลย  เมื่อท่านบวชได้ ๘พรรษาหลวงปู่อั๊บได้เดินทางไปยัง จ.สุพรรณบุรี เพื่อไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว หลวงพ่อโบ้ยท่านมีความเชี่ยวชาญในสายวิปัสสนากรรมฐานเป็นยิ่งนัก มีความศักดิ์สิทธิ์ใน วิชาอาคมขลังเป็นเลิศ หลวงพ่ออั๊บได้ขอขึ้นกรรมฐานธุดงค์กับหลวงพ่อโบ้ย ซึ่งหลวงพ่อโบ้ย ท่านก็ได้สอนหลักการเดินธุดงค์การอยู่ในป่าให้อย่างละเอียด จึงนับได้ว่า หลวงพ่อโบ้ย คือ ครูกรรมฐานที่แท้จริงของหลวงปู่อั๊บ  หลังจากหลวงปู่อั๊บได้กลับมาจากวัดมะนาวแล้วท่านได้ไปจำพรรษาที่ วัดโคกเขมา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดท้องไทรมากนัก ๑ พรรษา(พรรษา ๑๐) ในปีพ.ศ.๒๔๙๕(พรรษา ๑๑)ได้มีญาติโยมได้นิมนต์ท่านไปอยู่ที่ วัดใหม่ต้านทาน อ.บางซ้าย จ.อยุธยา เมื่อท่านได้มาอยู่  จ.อยุธยาแล้วท่านได้มีโอกาสไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.อยุธยา ซึ่งหลวงพ่อจงท่านนี้นั้นนับได้ว่าเป็นเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยสงครามโลกครั้งที่๒เป็นอย่างมาก  จนมีผู้คนทั่วไปกล่าวขานคำคล้องจองกล่าวกันว่ จาด-จง-คง-อี๋

จาด คือ หลวงพ่อจาด แห่งวัด บางกระเบา จ.ปราจีนบุรี

จง คือ หลวงพ่อจง แห่งวัด  หน้าต่างนอก  จ.อยุธยา

คง คือ หลวงพ่อคง แห่งวัด บางกระพร้อม จ.สมุทรสงคราม

 อี๋ คือ  หลวงพ่ออี๋ แห่งวัด สัตหีบ จ.ชลบุรี

           หลวงปู่อั๊บท่านได้เรียนวิชาอาคมจากหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา ไว้มากพอสมควรและหลวงพ่อจง ท่านได้สอนวิปัสนากรรมฐานให้และวิชาอื่นๆอีกหลายๆอย่างด้วยกัน อย่างเช่น  วิชาตะกรุดลอยน้ำ ซึ่งเป็นวิชาชั้นสูงและอักขระเลขยันต์ต่างๆ

           ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕- พ.ศ.๒๕๐๕ นั้นท่านได้จำพรรษา ณ.วัดใหม่ต้านทาน อ.บางซ้าย  จ.อยุธยา เป็นเวลา ๑๑ พรรษา หลังออกพรรษาเมื่อรับกฐินแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์เพื่อหาความวิเวกทุกๆปี ในช่วงเวลา ๑๑ พรรษานี้ท่านได้เรียนวิชาอาคมต่างๆเพิ่มเติมและฝึกจิตจนมีความก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วจากการที่ท่านได้ธุดงค์อยู่ในป่า ถ้ำ เขา ทำให้ท่านมีพลังจิตแกร่งกล้าเป็นยิ่งนัก ท่านเล่าว่าได้เดินธุดงค์ไปทั่วประเทศมาหมดแล้ว ในช่วงที่ท่านได้เดินธุดงค์อยู่นั้นได้พบพระธุดงค์ด้วยกันถ้าพระรูปใดได้แสดงวิชาอะไรให้ได้ดูให้เห็นเป็นที่ประจักษ์จริงแก่สายตาแล้ว ท่านขอเรียนไว้หมดโดยท่านบอกว่าไม่สามารถที่จะจำชื่อได้หมด ในช่วงที่อยู่อยุธยานี้ได้ไปขอเรียนวิชาอย่างหนึ่งที่พิสดารยิ่งคือวิชาการทำตะกรุดกัน อสรพิษ จาก หมอถ่าย หมอถ่ายนี้เป็นฆราวาสที่พักอาศัยอยู่ใกล้ๆกับวัดไผ่โรงวัว   จ.สุพรรณบุรี หมอถ่ายนี้สามารถเอางูเห่าใส่ย่ามสะพายไปไหนมาไหนได้โดยงูไม่กัดและสามารถนำงูออกมาอาบน้ำในกาละมังได้โดยงูไม่กัด หลวงปู่อั๊บไปขอเรียนอยู่ถึง ๗ ปีหมอถ่ายจึงยอมสอนให้แต่ก็ได้ไม่หมดเพราะหลวงปู่อั๊บไม่มีฝิ่นไปบูชาครู  นับว่าเป็นวิชาที่พิสดารคือถ้าผู้ใดได้คาดตะกรุดกันงูนี้อยู่กับตัว ถ้าไปเหยียบงูพิษเข้า งูไม่สามารถที่จะอ้าปากกัดได้และวิธีการทำก็ยุ่งยากมาก เคยเห็นท่านนั่งผูกตะกรุดกันงูต้องปิดปากเอาลิ้นดันเพดานปากไว้แล้วทำการภาวนาขณะถักตะกรุด ด้านหนึ่งมี ๙ เปลาะแล้วเอาตะกรุดร้อยเข้าแล้วจึงถักอีกด้านหนึ่ง ๗ เปลาะขณะทำการถักห้ามพูดคุยเด็ดขาด ถ้าเกิดไอหรือจามหรือเผลอพูดออกมาเป็นอันว่าตะกรุดดอกนั้นเสียทันทีต้องแก้ใหม่หมด ท่านบอกว่าเวลาถักตะกรุดกันงูทีไร ฉันอาหารไม่ค่อยได้ไปหลายวัน

          ในปีพ.ศ๒๕๐๖-๒๕๐๗ญาติโยมได้นิมนต์ท่านไปจำพรรษาที่วัดวังชะโด อ.บางซ้าย จ.อยุธยาเป็นเวลา ๒ ปีรวมแล้ว หลวงปู่อั๊บ มาจำพรรษาอยู่ที่จ.อยุธยาทั้งหมดเป็นเวลาถึง ๑๓ ปี

          ในปีพ.ศ๒๕๐๘ หลวงปู่อั๊บ มีอายุ ๔๓ ปีญาติโยมทางท้องไทรได้มานิมนต์ให้หลวงปู่กลับมาอยู่ที่วัดท้องไทร อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อไปโปรดญาติโยมที่บ้านเกิดบ้างท่านจึงได้กลับมาอยู่ที่วัดท้องไทรตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ปีที่ท่านได้กลับมาอยู่วัดท้องไทร นั้นอายุได้ ๔๓ ปีย่าง๔๔ ปี (ได้๒๔พรรษา)

 ในปีพ.ศ.๒๕๐๙หลวงปู่อั๊บได้ดำริจะสร้างศาลาการเปรียญขึ้นมาสักหลัง ลูกศิษย์จึงขออนุญาตทำการจัดสร้างเหรียญ ซึ่งเป็นรุ่นแรกของหลวงปู่อั๊บ ขึ้นมาเป็นเหรียญรูปไข่ครึ่งองค์เนื้อทองแดงจำนวนที่จัดสร้าง ๑๐,๐๐๐เหรียญ เพื่อมอบสมนาคุณให้แก่ญาติโยมที่บริจาคทรัพย์สร้างศาลาการเปรียญพร้อมกันนี้ท่านได้ทำการสร้างตะกรุดกันงูขึ้นมาด้วยเพื่อแจกพร้อมกับเหรียญรูปไข่ด้วย

 ญาติโยมที่ได้รับไปบูชานั้นได้พบเจอกับอภินิหารมากมายนับไม่ถ้วนเป็นการสร้างชื่อเสียงขจรขจายให้ผู้คนทั้งหลายได้รู้จักกับ หลวงพ่อปู่อั๊บ แห่งวัดท้องไทร จนโด่งดังไปทั่วมากยิ่งขึ้นและหลวงปู่อั๊บก็ยังได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านท้องไทรตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ หลวงปู่อั๊บได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแห่งวัดท้องไทรและยังได้รับการแต่งตั้งเป็น พระกรรมวาจาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่านได้นำวิชาต่างๆที่ได้ร่ำเรียนมาสงเคราะห์ผู้คนทั่วไปดังนี้….

๑. วิชาการแพทย์แผนโบราณรักษาด้วยสมุนไพร

๒. วิชาการรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก-เส้นเอ็น

๓. วิชาการแช่น้ำมนต์

๔. วิชาการถอนคุณไสย(ถอนของ)

๕. วิชาการสักเสกอักขระเลขยันต์

           วิชาการแช่น้ำมนต์ถอนของนี้ หลวงปู่อั๊บท่านได้ไปขอเรียนกับ ก๋งสุข ซึ่งเป็นคนจีนบ้านอยู่ที่ จ.อยุธยา ก๋งสุขนี้เมื่อสมัยตอนรุ่นๆได้ต้มน้ำร้อนถวาย หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเท่า เป็นลูกศิษย์ที่รับใช้หลวงปู่ศุขอยู่ถึง ๑๐ ปีหลวงปู่ศุขจึงถ่ายทอดให้มาและได้สั่งเอาไว้ด้วยว่า ถ้ามอบให้ใครแล้วมึงก็ต้องตายเสีย หลวงปู่อั๊บเพียรไปเรียนอยู่ประมาณ ๖ ปี ก๋งสุขจึงยอมมอบวิชาให้หลังจากถ่ายทอดวิชาการทำน้ำมนต์ถอนของให้กับหลวงปู่อั๊บ แล้วประมาณ ๑เดือน ก๋งสุขก็เสียชีวิตในวัย ๙๐ ปีเศษ

วิธีการรักษา ของหลวงปู่อั๊บ แห่ง วัดท้องไทรนั้น

ผู้ใดสงสัยจะถูก คุณไสย ลมเพลมพัด ท่านจะให้นำน้ำกรองสะอาดใส่ในกะละมังพอมิดหลังเท้าแล้วเอาน้ำมนต์ที่ท่านทำไว้ใส่ลงไปด้วย  ล้างเท้าให้สะอาดแล้วจึงเอาเท้าแช่ลงไปในกะละมังนั้นเอาน้ำมนต์ดื่มเข้าไปด้วย ถ้าคนป่วยนั้นถูกคุณไสย ถูกของมาจริงก็จะถูกขับออกมาในกะละมังนั้นโดยแช่วันละ ๓ชั่วโมงติดต่อกัน ๓ วันจนครบ๙ ชั่งโมงแล้ว หลวงปู่อั๊บจะรดน้ำมนต์ให้อีกครั้งหนึ่ง

 บางคนเป็นหนักจนไม่ได้สติจนต้องหามกันมาก็มีก็มาหายด้วยน้ำมนต์ของหลวงปู่อั๊บ มากมายนับไม่ถ้วน บางคนอยากจะแช่ทั้งตัวก็มีอ่างปูนซีเมนต์ขนาด 4 เหลี่ยมใส่น้ำลงไปแล้วเอาน้ำมนต์ใส่ลงไปจึงลงไปนั่งแช่ทั้งตัว ค่ารักษาก็มีเพียง ธูป เทียน  ดอกไม้และบุหรี่๑ ซองกับเงินค่าครูแค่ ๑๒ บาทเท่านั้น บางคนเป็นอัมพฤต อัมพาต มาแช่แล้วเอายาไปกินหายเดินได้มาก็มาก ท่านได้สงเคราะห์ผู้คนที่เป็นเช่นนี้มา หลายสิบปี ถ้าจะนับจำนวนผู้ป่วยที่ท่านทำการสงเคราะห์ก็ไม่อาจที่จะสรุปได้ว่ากี่หมื่นกี่พันราย

ครูอาจารย์ที่หลวงปู่อั๊บได้ไปขอเล่าเรียนวิชามามีดังนี้………

๑.พระเล็ก เป็นพระพี่ชายศึกษาเล่าเรียนวิชาการทำตะกรุดโพธิ์กลับพระเล็กได้ไปเล่าเรียนวิชานี้มาจากหลวงพ่อคำ วัดดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี วิชานี้เป็นวิชาสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งหลวงพ่อไม่ค่อยได้ทำให้ใคร เนื่องจากพรรษาหนึ่งเพียง ๙ดอกเท่านั้นและต้องทำจาก แผ่นเงิน และ ทองคำเท่านั้น (ตอนที่ท่านไปเรียนวิชานี้มาจากราชบุรีนั้น หลวงพ่ออั๊บท่านขี่ม้าไปเรียน จนม้าที่หลวงพ่อขี่นั้นตายไปเป็นตัวๆ)

๒.หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา จ.นครปฐม ศึกษาเล่าเรียนวิชาอักขระเลขยันต์และพระเวทย์ต่างๆและยังได้ตำรายันต์มาจาก หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลามาอีก ๑ เล่ม

๓.หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ.นครปฐม ศึกษาเล่าเรียนวิชาการลงเลขยันต์ที่แผ่นกระเบื้องแล้วนำไปไว้กลางที่ดินเพื่อให้ขายได้ เป็นต้น

๔.หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา ศึกษาเล่าเรียนวิชาวิปัสสนากรรมฐานและอักขระเลขยันต์ต่างๆ วิชาการทำตะกรุดลอยน้ำ ซึ่งเป็นเมตมหานิยมอย่างสูง(ตำราอีก ๑เล่ม)

๕.หลวงพ่อหอม วัดหนองเสือ จ.นครปฐม ศึกษาเล่าเรียนวิชาทำน้ำมันมนต์สมุนไพรประสานกระดูกละเส้นเอ็น ซึ่งหลวงพ่อหอมเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อจวน หลวงพ่อจวนเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี

๖.หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว จ.สุพรรณบุรี ศึกษาเล่าเรียนวิชาขึ้นกรรมฐานธุดงค์

๗.ก๋งสุข ศึกษาเล่าเรียนวิชาทำน้ำมนต์ถอนของ

๘.โยมถ่าย ศึกษาเล่าเรียนวิชาการทำตะกรุดกันงู

 ยังมีครูบาอาจารย์อีกหลายๆท่านที่ไม่ได้เอ่ยชื่อไว้ (หลวงพ่อจำไม่ได้) จนนับไม่ถ้วนจนตำราที่ท่านได้ไปศึกษาเล่าเรียนมา หลวงปู่อั๊บท่านบอกเอาไว้ว่าต่อให้มีรถกระบะก็ใส่ตำราที่เรียนมานั้นก็ไม่หมดบางเล่มก็มีคนยืมเอาไปแล้วไม่ได้นำมาคืน หลวงพ่ออั๊บก็หลายเล่มและอีกส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ วัดใหม่ต้านทาน จ.อยุธยา

 หมายเหตุ

              อนึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจาก พระอาจารย์พระครูปลัด ขวัญชัย สุจิตฺโต (รักษาการเจ้าอาวาส วัดท้องไทร)

                                                                  นาย นริทร์ กำบัง  ผู้จดบันทึก

                                                                   ศิษย์เอกวัดท้องไทร   ผู้จัดทำ