วันที่ 17 กรกฏาคม 2563 : ถวายปัจจัยจากการเช่าบูชาวัตถุมงคล วัดเจ้าอาม แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

103

วันที่ ๑๗ กรกฏาคม ๒๕๖๓  ที่ผ่านมา
โครงการเช่าบูชาวัตถุมงคล บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ได้เข้าถวายสักการะในโอกาสเข้าพรรษา ท่านพระครุนิวิฐสาธุวัตร  เจ้าอาวาสวัดเจ้าอาม แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยมี คุณนิพนธ์ หมีอินทร์ ผู้จัดการแผนกบริหารโครงการพิเศษ (โครงพระ) และทีมงาน กาลนี้ได้ทำพิธีมอบป้ายและถวายปัจจัยจากการเช่าบูชาวัตถุมงคล ของปี ๒๕๖๒ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๓๘,๙๑๕.๑๓ บาท มีหลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้รับมอบเพื่อสมทบทุนในการสร้างอาคารปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ กาลนี้ต้องขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ได้ร่วมบุญในการเช่าบูชาวัตถุมงคล มา ณ โอกาสนี้

วัดเจ้าอาม มีเนื้อที่ตั้งวัด 12 ไร่ หน้าวัดด้านทิศตะวันออก มีถนนบางขุนนนท์ตัดผ่านหน้าวัด ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช 2322 สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงสร้าง วัดเจ้าอามขึ้น ในท้องที่บ้านลุ่มเชิงเลน เขตชานเมืองธนบุรี เพื่ออุทิศพระราชกุศลให้กับพระสนมอาม หรือเจ้าอาม ซึ่งเป็นพระมเหสี
ต่อมาภายหลังพระองค์ ได้มีพระราชดำริสร้างวัดขึ้น จึงทรงแสวงหาพื้นที่เขตชานเมืองธนบุรี เพื่อทรงสร้างวัดขึ้น และในพระราชพงศาวดาร ยังกล่าวอีกว่าได้ทรงสร้างปรางค์ใหญ่ไว้องค์หนึ่ง เพื่อนำอัฐิของมเหสีอามมาบรรจุไว้เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์ด้วย
การก่อสร้างวัดเจ้าอามนี้ยังทรงสร้างไม่สมบูรณ์ เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จไปปราบปรามชุมนุมข้าศึกต่างๆ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 3 ปี ตลอดจนผู้ที่ก่อความไม่สงบสุขภายในประเทศ เกือบจะไม่มีเวลาเพียงพอ เพราะฉะนั้นการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดเจ้าอาม จึงขาดช่วง ขาดการต่อเนื่องไม่สำเร็จลุล่วงไปดังพระราชหฤทัยที่พระองค์ได้ทรงตั้งปณิธานไว้ การก่อสร้างวัดเจ้าอามนี้ จึงได้ร้างมาเป็นเวลานานปี
ต่อมาในระยะหลังชาวบ้านในระแวกบ้านลุ่มเชิงเลน จึงได้ช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาอีก ศิลปวัตถุเดิมของวัดเจ้าอามนี้ เป็นที่น่าเสียดายเพราะสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น ได้ก่อสร้างมาเป็นเวลานานปี ขาดการบูรณปฏิสังขรณ์ จึงได้ชำรุดทรุดโทรมผุพังไปตามสภาพ ทั้งนี้ถาวรวัตถุบางอย่างก็ยังคงมีสภาพเหลืออยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย วัดเจ้าอามเดิมทีเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางสวน ทางคมนาคมไม่มีผ่านการสัญจรไปมาลำบาก จึงไม่ค่อยมีผู้ที่รู้จัก พระภิกษุสามเณร ไม่ค่อยมาจำพรรษาอยู่เพราะการสัญจรไปมาลำบาก
ต่อมาจอมพลประภาส จารุเสถียร ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนายการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมด้วยท่านผู้หญิงไสว จารุเสถียร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายพลเรือน, ทหารและตำรวจ ได้มีจิตศรัทธานำกลองขนาดใหญ่มาถวายที่วัดเจ้าอาม พร้อมทั้งนำต้นศรีมหาโพธิ์, ต้นสาระ ที่เอกอัครราชทูตแห่งอินเดีย นำมาจากพุทธคยาประเทศอินเดีย มาปลูกที่วัดเจ้าอามนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 ซึ่งจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ท่านได้ทรงสร้างวัดเจ้าอามนี้ขึ้น เพื่ออุทิศพระราชกุศลให้กับพระสนมอาม หรือเจ้าอาม
ทั้งนี้ จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้มีกุศลจิตศรัทธายิ่งรับเป็นเจ้าภาพบริจาคทรัพย์บูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์ วัดเจ้าอาม ที่ชำรุดทรุดโทรมมาเป็นระยะเวลานานปี ให้มีสภาพที่มั่นคงสวยงามโดยรักษาทรวดทรงของเก่าไว้ทุกประการ ซึ่งเดิมทีมีความประสงค์จะประดับโมเสกสีทองทั้งองค์ที่จะสั่งมาจากประเทศอิ ตาลี่ แต่ทางคณะกรรมการวัดเกรงว่าต่อไปภายหน้า ถ้าเกิดการชำรุดทรุดโทรมขึ้นก็จะยากในการบูรณปฏิสังขรณ์ จึงขอเพียงแต่ทาสีขาวทั้งองค์ ในวันสมโภชพระปรางค์ จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่ยอดพระปรางค์ด้วย พร้อมกับมีจิตดำริที่จะรับปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ของวัดที่ชำรุดทรุดโทรม ให้มีสภาพที่สวยงามมั่นคงอีกด้วย ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป การก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดเจ้าอาม ของจอมพลประภาส จารุเสถียร จึงได้ล้มเลิกไป
วัดเจ้าอามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามาแต่เดิม พร้อมกับการสร้างวัดประมาณ พ.ศ. 2322 ทิศเหนือยาว 118 เมตร ติดกับลำกระโดง และคลองวัดเจ้าอาม ทิศใต้ยาว 114 เมตร ติดกับลำกระโดงและที่ดินของเอกชน ทิศตะวันออกยาว 160 เมตรติดกับถนนบางขุนนนท์ ทิศตะวันตกยาว 212 เมตรติดกับลำกระโดงและที่ดินของเอกชน ที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 ไร่ 97 ตารางวา โฉนดเลขที่ 146 บริเวณที่ตั้งวัด เป็นที่ราบลุ่มอยู่ในสวนมีคูคลองโดยรอบ ขณะนี้ได้กลายเป็นที่จัดสรรมีหมู่บ้านประชาชนเพิ่มมากขึ้น การคมนาคมมีถนนบางขุนนนท์ ผ่านหน้าวัดทางทิศตะวันออก อาคารเสนาสนะ ประกอบไปด้วยอุโบสถ 1 หลัง วิหาร 1 หลัง ศาลาการเปรียญ 1 หลัง สร้างใน พ.ศ. 2520และกุฏิสงฆ์จำนวน 16 หลัง
มีพระประธานในอุโบสถปางมารวิชัยหน้าตัก 3 ศอกเศษ หล่อด้วยโลหะ เป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง, หลวงพ่อโตในวิหารเป็นศิลาแลงปางมารวิชัย หน้าตัก 3 ศอกเศษ, ปรางค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่สวยยอดซุ้มปรางค์ได้ประดิษฐานพระ พุทธรูปยืนสูงประมาณ 3 ศอกทั้งสี่ทิศ มีพัทธเสมารอบอุโบสถเป็นพัทธเสมาคู่ ซึ่งตามปกติแล้วจะมีเฉพาะพระอารามหลวงเท่านั้น, โคมระย้าและโคมหวดแก้วในอุโบสถแขวนอยู่ที่เพดานก็เป็นของเก่าแก่ฯ
ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบันนี้มีพระภิกษุสามเณรที่สอบได้นักธรรม-บาลี เป็นมหาเปรียญจำนวนมาก และมีพระภิกษุที่สามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค อันเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาของคณะสงฆ์ ในสังกัดวัดเจ้าอาม จำนวน 4 รูป คือ
1. พระมหาสามิตร เตชปญฺโญ สอบได้ในปี พ.ศ. 2539
2. พระมหาชินพัฒน์ จกฺกเมธี สอบได้ในปี พ.ศ. 2542
3. พระมหาธนสิทธิ์ สิทฺธิญาโณ สอบได้ในปี พ.ศ. 2544
4. พระมหายุทธนา ขนฺติพโล สอบได้ในปี พ.ศ. 2545
นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร และศูนย์สาธารณสุขตั้งอยู่ในที่วัดอีกด้วย
วัดเจ้าอามมีพระภิกษุที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันตามลำดับดังนี้
1.พระอธิการเฉย (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
2.พระอธิการเทศ (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
3.พระอธิการยัง (ดำรงตำแหน่งอยู่กี่ปีไม่ปรากฏหลักฐาน)
4.พระอธิการไปล่ ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ. 2511
5.พระครูนิวิฐสาธุวัตร (ทองล่ำ ยโสธโร ป.ธ.5) ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบัน
วัด เจ้าอาม แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ระยะหลังได้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด ปัจจุบันทางคมนาคมสะดวกมาก ท่านพระครูนิวิฐสาธุวัตร เจ้าอาวาสวัดเจ้าอาม เจ้าคณะแขวงบางขุนนนท์ พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร, คณะกรรมการวัดเจ้าอาม ทายกทายิกา และพุทธศาสนิกชน ได้พยายามเร่งพัฒนาวัดเจ้าอาม โดยการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ภายในวัดที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามสภาพขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นการเทิดทูนพระเกียรติเป็นพระราชอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุง ธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ที่พระองค์ได้ทรงสร้างวัดเจ้าอามนี้ขึ้น และเพื่อเป็นการเชิดชูพระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบต่อไป.

โพสท์ใน ประวัติวัดเจ้าอาม