วันมาฆบูชา จงทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

396

วันมาฆบูชาในทุกๆ ปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 โดยให้ถือว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่ง “มาฆะ” คือชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า “มาฆบุรณมี” หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย ตั้งแต่อดีตจนถึปัจจุลันการกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

ความสำคัญของวันมาฆบูชา

มาฆบูชาเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” และได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่

  1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
  2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
  4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา

โดยทั้ง 4 เหตุอัศจรรย์นี้ นี่เองที่ทำให้วันมาฆบูชา สามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต

  • จาตุร แปลว่า 4
  • องค์ แปลว่า ส่วน
  • สันนิบาต แปลว่า ประชุม

หมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ 4” นั่นเอง

หลักธรรมสำคัญวันมาฆบูชา

หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติในวันนมาฆบูชาหรือถ้าสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ยิ่งจะดีกับตัวท่านเอง คือ “โอวาทปาติโมกข์” ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6

หลักการ 3

แนวทางและหลักคำสอนที่พุทธบริษัทพึงปฏิบัติ

  1. การไม่ทำบาปทั้งปวง (ศีล) คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)
  2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม (ทาน) คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ความดีทางวาจา (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ) และความดีทางใจ (ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม)
  3. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ (ปัญญา) คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย

อุดมการณ์ 4

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระภิกษุและบรรพชิต

  1. มีความอดทนอดกลั้น (ขันติ)
  2. มุ่งนิพพาน (พ้นจากภัยในวัฏสงสาร)
  3. ไม่เบียดเบียนหรือสร้างความทุกข์ให้ผู้อื่น
  4. มีจิตใจสงบ

วิธีการ 6

หลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา

  1. ไม่กล่าวร้ายหรือโจมตีความเชื่อของผู้อื่น
  2. ไม่ทำร้ายหรือไม่บังคับข่มขู่
  3. สำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์ (ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัยอันดี)
  4. รู้จักประมาณการบริโภค (รู้จักพอเพียง)
  5. อยู่ในสถานที่สงบ
  6. เพียรฝึกฝนจิตใจให้สงบ

นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยยังนิยมปฏิบัติกิจกรรม เพื่อรำลึกถึงหลักคำสอนและหลักธรรมในวันมาฆบูชา เช่น การทำบุญตักบาตร ฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบพระอุโบสถ รวม 3 รอบ ด้วยการเวียนทางขวา หรือที่เรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ และรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ตามลำดับ ร่วมกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อส่วนรวม